Knowledge Article


การรักษาแผลเป็นโดยการใช้สารสกัดจากหัวหอม


อาจารย์ ดร.ภก. สุเมธ จงรุจิโรจน์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://yumadermatology.com/wp-content/uploads/2013/08/What-is-a-Scar-1024x800.jpg
29,485 View,
Since 2016-09-30
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/27kbrnby
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เมื่อเกิดแผลขึ้นตามร่างกาย เช่น มีดบาด หกล้ม แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลผ่าตัด แผลสิว แผลจากโรคอีสุกอีใส ทำให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ ร่างกายจะมีกระบวนการในการรักษาตัวเอง เช่น การอักเสบ การสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ทดแทนส่วนที่ถูกทำลายไป โดยจะไฟโบรบลาส (fibroblast) ถูกสร้างขึ้นในส่วนของ extracellular matrix molecules (ECM) เกิดการซ่อมแซม สร้างและจัดเรียงโครงสร้างของผิวหนัง การสร้างเส้นเลือดใหม่ ซึ่งจะทิ้งรอยแผลจางๆไว้ อาจเป็นสีน้ำตาล แดงหรือชมพู และนูนเล็กน้อย แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้สีก็จะจาง แบนลงจนหายไปได้เองใช้เวลา 1-2 ปี หรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผล การฉีดขาดของเนื้อเยื่อมากน้อยเพียงใด และการดูแลรักษาความสะอาดของแผล แต่ถ้าเกิดความผิดปกติ เช่น การสร้างเนื้อเยื่อมากเกินไปทำให้รอยแผลไม่หายไปก็จะเรียกว่า แผลเป็น ซึ่งจำแนกออกเป็น

  • แผลเป็นนูนหนาธรรมดา (Hypertrophic) คือ แผลเป็นที่มีลักษณะเป็นสีชมพู สีแดงและนูนขึ้นมาจากผิวหนังเล็กน้อยโดยยังอยู่ในรอยของแผลเดิม เกิดจากการสร้างคอลลาเจนมากเกินไป แต่ไม่ขยายกว้างจากรอยเดิม และมักจะจาง หรือค่อย ๆ ยุบตัวแบนราบลงเมื่อเวลาผ่านไป1-2 ปี
  • แผลเป็นนูนชนิดคีลอยด์ (Keloid) คือ แผลเป็นที่มีลักษณะอาการนูนคล้ายกับรอยแผลเป็นนูนหนาชนิดแรก แต่ตัวแผลจะนูนเหนือผิวหนังมากกว่าปกติ และจะมีความผิดปกติของกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อโดยเกิดการขยายตัว นูน หรือกว้างกว่ารอยแผลเดิม เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ยุบหายไปเอง จัดเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่ใช่มะเร็ง
กระบวนการการสร้างเนื้อเยื่อเพื่อรักษาบาดแผลเกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนต่างๆ เช่น คอลลาเจน เจลาติน และโปรทีโอไกลแคนที่อยู่ใน ECM ในชั้นของเนื้อเยื่อ ซึ่งมีกลุ่มเอนไซม์ matrix metalloproteinases (MMPs) ทำหน้าที่เป็นตัวสร้างสารต่างๆ ในกระบวนการรักษาบาดแผล (รูปที่ 1) โดยการอักเสบและการเกิดแผลจะเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์สร้าง MMPs ออกมาอยู่ในรูปของ Pro-MMPs และจะต้องมีเอนไซม์ protease มาย่อยอีกทีเพื่อให้สามารถทำงานได้ นอกจากนี้จะมี tissue inhibitors of metalloproteinases (TIMPs) ทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งการทำงานของ MMPs ได้ด้วย จะเห็นได้ว่าการทำงานของ MMPs เป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการรักษาแผล ถ้ามีการทำงานมากเกินไป นานเกินไปก็จะเกิดแผลเป็น ปัจจุบัน พบ MMPs ทั้งหมด 28 ชนิดแต่ทราบหน้าที่แค่บางชนิด เช่น MMPs-1, MMPs-8 และ MMPs-13 เกี่ยวข้องกับการสร้างคอลลาเจน MMPs-2 และ MMPs-9 เกี่ยวข้องกับการสร้างเจลลาติน เป็นต้น

ในปัจจุบันการรักษาแผลเป็นโดยการทายาเป็นการรักษที่ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากเหมือนการผ่าตัดตกแต่งผิวหนัง ยาที่ใช้ทา เช่น สาร imiquimod, mitomycin C หรือสารจากพืช เช่น ชาเขียว ว่านหางจระเข้ วิตามินอี การใช้สารสกัดจากหัวหอมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากหัวหอมประกอบด้วยสารกลุ่ม phenolic มีฤทธิ์เป็น anti-oxidant และ anti-inflammatory ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างเนื้อเยื่อ และจากการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากหัวหอมในการรักษาแผลเป็นพบว่าสารสกัดจากหัวหอมสามารถลดการสร้างไฟโบรบลาสในกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อได้โดยกระตุ้นการทำงานของ MMPs-1 และยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ECM remodeling อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการรักษาแผลเป็นโดยการใช้ยาทายังไม่มีการรายงานว่าสารใดสามารถรักษาแผลเป็นให้หายได้แน่นอน ทั้งนี้การรักษาแผลเป็นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีในการรักษาแผลเป็นที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง
  1. Cho JW, Cho SY, Lee SR, Lee KS. Onion extract and quercetin induce matrix metalloproteinase-1 in vitro and in vivo. Int J Mol Med. 2010; 25(3):347–352
  2. Gibson D, Cullen B, Legerstee R, Harding KG, Schultz G. MMPs Made Easy. Wounds International. 2009; 1(1):1-6
  3. Sidgwick GP, McGeorge D, Bayat A. A comprehensive evidence-based review on the role of topicals and dressings in the management of skin scarring. Arch Dermatol Res. 2015; 307:461–477
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.