Knowledge Article


การแพ้อาหารในเด็ก.........ข้อมูลสรุปสำหรับพ่อแม่มือใหม่


รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข
ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://smartparentprogram.blogspot.com/2011/11/
feeding-babies-lumpy-foods-before-9.html
110,323 View,
Since 2016-09-25
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/25duz5dg
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


การแพ้อาหาร (Food allergy) คือ ผลต่อสุขภาพ ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเกิดเนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจง และจะเกิดซ้ำได้เหมือนเดิมเมื่อรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง

การแพ้อาหารอาจจัดแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่เกิดอย่างเฉียบพลันโดยมี อิมมูโนโกลบูลิน อี เกี่ยวข้องด้วย และชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับ อิมมูโนโกลบูลิน อี ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะชนิดแรกซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยและอธิบายได้



อาการแพ้อาหารพบได้มากน้อยเพียงใด

มีรายงานการเกิดการแพ้อาหารที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานการเกิดการแพ้อาหารตั้งแต่ร้อยละ 1-2 ถึง ร้อยละ10 ในปัจจุบัน การแพ้อาหารพบได้มากขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ในประเทศออสเตรเลีย พบได้ 1 คนในเด็ก 10 คน เมื่อเด็กอายุ 1 ปี ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา พบได้ 1 คน ใน 15 คน และในประเทศแคนาดา พบได้ 1 คน ใน 20 คน

อาการแพ้อาหารรุนแรงเพียงใด

อาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่น้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรง อาการที่รุนแรงที่สุด คือ เกิดปฏิกริยาเฉียบพลันต่อระบบของอวัยวะในร่างกายที่สำคัญตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป ซึ่งมีผลถึงตายได้ อาการที่เกิดจากปฏิกริยาการแพ้อาหารมีดังนี้
อวัยวะ/บริเวณของร่างกาย อาการ
ผิวหนัง อาการคัน ผื่นแดง ผื่นลมพิษ ผิวหนังบวม
ตา อาการคัน น้ำตาไหล ตาแดง อาการบวมรอบตา
ทางเดินหายใจส่วนบน อาการคัน แน่นจมูก น้ำมูกไหล จาม เสียงแหบ กล่องเสียงบวม
ทางเดินหายใจส่วนล่าง อาการไอ เสียงหวีดในลำคอ หายใจไม่ออก แน่นหรือเจ็บหน้าอก
ทางเดินอาหาร อาการคันในช่องปาก อาการบวมของริมฝีปาก ลิ้น หรือ เพดานปาก คันหรือแน่นในคอ ปวดท้องเรื้อรัง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
หัวใจและหลอดเลือด หัวใจเต้นเร็ว มึนงง สลบหรือเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ
อื่นๆ รสเหมือนโลหะในปาก ปวดเกร็งมดลูก ความรู้สึกป่วยเหมือนใกล้ตาย


อาหารที่พบว่าทำให้มีการแพ้ได้ มีอะไรบ้าง

อาหารที่พบมีรายงานว่าทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย คือ ไข่ นม ถั่วลิสง ถั่ว (Tree nuts) ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ส่วนอาหารอื่นๆได้แก่ งา เมล็ดพืช อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และผลไม้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารมีอะไรบ้าง
  1. กรรมพันธุ์ พบว่าหากในครอบครัวมีสมาชิกที่เป็นโรคภูมิแพ้ 1 คน ความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 หากมีสมาชิกในครอบครัวสายตรงเป็นโรคภูมิแพ้ 2 คน ความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80
  2. เผ่าพันธุ์ คนผิวดำที่ไม่ใช่ Hispanic คนเอเชีย และเพศชาย ในเด็ก มีความเสี่ยงสูงในการเกิดการแพ้อาหาร
  3. วิตะมิน ดี การขาดวิตะมิน ดี มีผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหาร
  4. การให้อาหารหลากหลาย การให้อาหารหลากหลายตั้งแต่เป็นทารก อาจจะมีผลป้องกันการแพ้อาหารในช่วงที่เด็กมีอายุมากขึ้น ฯลฯ
อาการแพ้อาหารจะเริ่มเกิดในเด็กในช่วงอายุเท่าใด? อายุเท่าใดอาการจึงจะหายไป? การจัดเตรียมอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดการแพ้อาหารอย่างไรหรือไม่?

อาหารแต่ละชนิดที่เป็นสาเหตุของการแพ้อาหาร มีช่วงเวลาที่เริ่มเกิดในเด็กหรือผู้ใหญ่แตกต่างกัน มีความรุนแรงแตกต่างกัน และอาการแพ้จะหายไปในช่วงอายุที่แตกต่างกันเช่นกัน การได้รับอาหารหรือการจัดเตรียมอาหารในบางครั้งก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการแพ้อาหารแตกต่างกันไป ดังนี้



อย่างไรก็ดี จากข้อมูลข้างต้น อาการแพ้อาหาร มีอาการตั้งแต่น้อย ปานกลาง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต และพบอาการเริ่มแรกได้ส่วนใหญ่ในวัยเด็ก เมื่อเด็กทารกโตขึ้นถึงอายุหนึ่ง จะทนหรือไม่พบอาการแพ้อาหารโดยเฉพาะ นม ไข่ ถั่วเหลือง และข้าวสาลี แต่การแพ้ถั่วลิสง ถั่ว Tree nuts และอาหารทะเลจะยังคงอยู่ตลอดชีวิต การให้อาหารกับเด็กในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ ควรกระทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในกรณีของถั่วลิสง และถั่ว Tree nut ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุของอาการแพ้ถึงตายได้ หากไม่แน่ใจ ควรยึดนโยบายหลีกเลี่ยงการกินอาหารนั้นๆไว้ก่อน ในส่วนของส่วนประกอบของอาหาร หากเป็นอาหารสำเร็จรูป ผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบจะมีการระบุไว้ที่กล่องหรือฉลาก แต่ในกรณีของร้านอาหาร ภัตตาคาร ควรต้องสอบถามพนักงาน/เจ้าหน้าที่ ให้แน่ใจก่อน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ถือเป็นข้อปฏิบัติ ที่จะเริ่มต้นให้อาหารไข่ และนม ในรูปของอาหารที่ผ่านการให้ความร้อนสูง กับเด็กทารกที่แพ้ไข่หรือนม เพื่อช่วยเร่งการทนอาหารไข่และนมในรูปอื่นๆได้เร็วขึ้น ท้ายที่สุด ควรทำการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องโรคภูมิแพ้ ในการดูแลเด็ก หรือผู้ใหญ่ในครอบครัว

เอกสารอ้างอิง
  1. Kim H, Fischer D. Anaphylaxis. Allergy, Asthma Clinical Immunol 2011; 7 (Suppl 1) 86.
  2. McWilliam V, Koplin J, Lodge C, Tang M, Dharmage S, Allen K. The prevalence of Tree Nut Allergy. Curr Allergy Asthma Rep 2015; 15:54.
  3. Muraro A, Werfel T, Hoffmann-Sommergruber K, Roberts G, Beyer K, Binderlev-Jensen C, et al. Anaphylaxis Guidelines, G. 20141. EAACI food allergy and anaphylaxis guidelines: diagnosis and management of food allergy. Allergy 2014; 69:1008-25.
  4. Sicherer SH, Sampson HA. Food allergy: epidemiology, pathogenesis, diagnosis, and treatment. J Allergy Clin Immunol 2014; 133:291-307.
  5. Sampson HA. Food allergy: Past, present and future. Allergology International 2016; xxx: 1-7.
  6. Savage J, Johns CB. Food allergy: Epidemiology and natural history. Immunol Allergy Clin North Am 2015; 35(1):45-59.
  7. Sicherer SH, Sampson HA. Food allergy: epidemiology, pathogenesis, diagnosis, and treatment. J Allergy Clin Immunol 2014; 133:291-307.
  8. Simons FE, Sampson HA. Anaphylaxis: unique aspects of clinical diagnosis and management in infants (birth to age years). J Allergy Clin Immunol 2015; 135:1125-31.
  9. Soller L, Ben-Shoshan M, Harrington DW, Fragapane J, Joseph L, St. Pierre Y, et al. Overall prevalence of self-reported food allergy in Canada. J Allergy Clin Immunol 2012; 130:986-8.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.