อาการปวดไมเกรนแบบเฉียบพลัน (acute migraine attack) เกิดจากหลอดเลือดที่กะโหลกศีรษะมีการขยายตัวมากผิดปกติ ยา ergotamine เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดไมเกรนโดยไปทำให้หลอดเลือดหดตัว สำหรับในประเทศไทยนั้นยา ergotamine มีชื่อทางการค้าที่หลากหลาย เช่น Cafergot®, Avamigran®, Tofago® หรือ Poligot-CF® เป็นต้น และเนื่องจากยา ergotamine เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการลดอาการปวดศีรษะไมเกรน ทำให้ความนิยมในการใช้ยา ergotamine มีเพิ่มขึ้น รวมไปถึงอันตรายที่เพิ่มขึ้นตามมาจากการใช้ยา ergotamine อย่างผิดวิธี (ผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานยา ergotamine อย่างเหมาะสมและผลเสียจากการรับประทานยา ergotamine ที่ผิดวิธีเพิ่มเติมได้จากบทความ
“ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน Ergotamine ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย” สำหรับบทความนี้จะเน้นให้ผู้อ่านทราบถึงปัญหาเรื่องยาตีกันระหว่าง ergotamine กับยาอื่นๆ ที่อาจใช้บ่อยในชีวิตประจำวันรวมไปถึงอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากปัญหายาตีกัน
ปัญหายาตีกันจากการใช้ยา ergotamine
ยาตีกัน หรือ ปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interaction) ergotamine กับยาอื่น สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ 1) ยาตีกันที่ทำให้ประสิทธิภาพหรือปริมาณยา ergotamine ในกระแสเลือดลดต่ำลง ทำให้ควบคุมอาการปวดศีรษะไมเกรนไม่ได้ และ 2) ยาตีกันที่ทำให้ประสิทธิภาพหรือปริมาณยา ergotamine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผลของยาตีกันในแบบที่ 2 นี้เองมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ควรทราบเนื่องจากอาจทำให้ผู้รับประทานได้รับอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยา ergotamine ได้
อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญของยา ergotamine มีอะไรบ้าง?
อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญที่สามารถเกิดขึ้นได้หากเกิดปัญหายาตีกัน มีดังต่อไปนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยและสัมพันธ์กับปริมาณยาที่รับประทาน
- ความดันโลหิตสูงขึ้น อาการไม่พึงประสงค์นี้อาจพบไม่บ่อยหากรับประทานยา ergotamine อย่างถูกต้องหรือไม่มีปัญหาเรื่องยาตีกัน แต่หากผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนแล้วและควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดีได้รับยา ergotamine ปริมาณสูงหรือมีระดับยาในกระแสเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดการทำลายอวัยวะสำคัญได้ เช่น หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury) เป็นต้น
- ปลายมือ-เท้าเย็น หรือ ชา (numbness) เป็นผลจากการที่ยาหดหลอดเลือดส่วนปลาย ผลข้างเคียงนี้สัมพันธ์กับปริมาณยา ergotamine ในกระแสเลือด และหากมีอาการรุนแรงมากขึ้นอาจส่งผลทำให้เกิดการขาดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณมือ แขน หรือขา ไม่เพียงพอและทำให้เกิดเนื้อตายได้และอาจจำเป็นต้องตัดแขนหรือขาทิ้งในที่สุด
- ใจสั่น เจ็บหน้าอก เป็นผลมาจาก ergotamine ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ (coronary artery) หดตัวหรือตีบแคบ ซึ่งทำให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง หากผลของการหดตัวของหลอดเลือดรุนแรงมากอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute coronary syndrome) ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
ยาใดบ้างที่ต้องระวังหากรับประทาน ergotamine?
ยาที่ต้องระวังเมื่อรับประทาน ergotamine คือยาที่มีผลเพิ่มระดับ ergotamine ในกระแสเลือด โดยเฉพาะยาที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ cytochrome P450 (CYP) ชนิด 3A4 ซึ่งร่างกายของเราใช้ในการกำจัดยา ergotamine ผลจากการยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 นี้สามารถเกิดขึ้นเร็วและทำให้ระดับยา ergotamine ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และหากมีการรับประทานยา ergotamine ในขนาดที่มากเกินไปหรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้มีการสะสมของยาในกระแสเลือดจนถึงระดับที่อันตรายและก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ergotamine ในที่สุด ยาที่ใช้บ่อยและส่งผลเสียอย่างมีนัยสำคัญหากรับประทานร่วมกับ ergotamine ได้แก่
- ยาต้านเชื้อรากลุ่ม azoles เช่น ketoconazole, voriconazole, itraconazole, fluconazole
- ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) กลุ่ม macrolides เช่น erythromycin, clarithromycin, azithromycin
- ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น verapamil, diltiazem, amiodarone
- ยาต้านเชื้อไวรัส กลุ่ม protease inhibitors เช่น ritonavir, indinavir, nelfinavir, saquinavir
- ยาต้านอาการปวดศีรษะไมเกรนกลุ่ม triptans เช่น sumatriptan, zolmitriptan ยาในกลุ่มนี้จะไปเสริมฤทธิ์ในการหดหลอดเลือดของ ergotamine และควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน (ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน)
ข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์จากปัญหายาตีกันของ ergotamine มีอะไรบ้าง?
ผลของยาตีกันระหว่างยา ergotamine และยาอื่น ที่ส่งผลทำให้ระดับยา ergotamine ในกระแสเลือดสูงขึ้นสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงที่ถึงขั้นต้องตัดแขน ขา หรือเสียชีวิตได้ คำแนะนำสำคัญเพื่อช่วยหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจาก ergotamine ได้แก่
- ควรรับประทานยา ergotamine เฉพาะเวลามีอาการปวดศีรษะไมเกรนเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาติดต่อกันทุกวัน ขนาดการรับประทานที่แนะนำเมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในครั้งแรก คือ 1 หรือ 2 เม็ด จากนั้นสามารถรับประทานเพิ่มได้อีกครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ ครึ่งชั่วโมงหากอาการไม่ดีขึ้น แต่ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และห้ามรับประทานยาเกิน 10 เม็ด ต่อสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่มีเพิ่มประสิทธิภาพหรือระดับ ergotamine อย่างไรก็ดี หากกำลังรับประทานยาที่มีผลตีกับยา ergotamine ควรหลีกเลี่ยงการใช้ ergotamine และใช้ยาที่เป็นทางเลือกอื่นๆ สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแทน
- ควรแจ้งเภสัชกรและแพทย์ทราบทุกครั้งเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่รับประทานเพื่อป้องกันการเกิดยาตีกันระหว่าง ergotamine และยาที่กำลังรับประทานอยู่หรือยาที่จะได้รับเพิ่ม
เอกสารอ้างอิง
- Silberstein SD, McCrory DC. Ergotamine and dihydroergotamine: history, pharmacology, and efficacy. Headache 2003;43(2):144-66.
- Tfelt-Hansen PC, Koehler PJ. One hundred years of migraine research: major clinical and scientific observations from 1910 to 2010. Headache 2011;51(5):752-78
- Worthington I, Pringsheim T, Gawel MJ, Gladstone J, Cooper P, Dilli E, Aube M, Leroux E, Becker WJ; Canadian Headache Society Acute Migraine Treatment Guideline Development Group. Canadian Headache Society Guideline: acute drug therapy for migraine headache. Can J Neurol Sci 2013;40(5 Suppl 3):S1-S80.
- Ferry FR, Da Silva GA, Motta RN, Carvalho Rde S, De S? CA. Use of lopinavir/ritonavir associated with ergotamine resulting in foot amputation: brief communication. Rev Inst Med Trop Sao Paulo 2014 May-Jun;56(3):265-6.
- Perrin VL. Clinical pharmacokinetics of ergotamine in migraine and cluster headache. Clin Pharmacokinet 1985;10(4):334-52.
- Eadie MJ. Clinically significant drug interactions with agents specific for migraine attacks. CNS Drugs. 2001;15(2):105-18.
- Shimony A, Romem A, Horowitz S, Boehm R, Horowitz J. Acute coronary syndrome associated with myocardial bridging due to ergotamine treatment for migraine. Int J Cardiol 2006;113(1):E7-8. Epub 2006 Aug 2.