Knowledge Article


เรื่องของยาลดความอ้วน orlistat


เภสัชกรหญิง พิชญา ดิลกพัฒนมงคล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
213,405 View,
Since 2010-11-02
Last active: 1m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่พบมากขึ้นในประชากรยุคปัจจุบัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากโรคอ้วนนั้นทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆเพิ่มขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง การลดความอ้วนที่ได้ผลดีที่สุดคือ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม การใช้ยาลดความอ้วนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้เสริมในกรณีที่ผู้ป่วยโรคอ้วนได้ผ่านวิธีการลดความอ้วนด้วยตนเองแล้วแต่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยอ้วนจนเกิดปัญหาแทรกซ้อนต่อสุขภาพ หากปล่อยไว้ โรคอ้วนที่ผู้ป่วยเป็นอยู่นั้นอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต

   ยาที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศไทยรับรองให้ใช้เป็นยาลดความอ้วน ได้แก่ phentermine, diethylpropion และ orlistat แต่เนื่องจากยาบางตัวอาจนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ ทำให้มีการรับรองให้ใช้ในระยะสั้นและต้องสั่งจ่ายจากสถานพยาบาลเท่านั้น ในปัจจุบัน orlistat เป็นยาลดความอ้วนเพียงตัวเดียวที่สามารถจำหน่ายได้ในร้านยา ส่วนยา sibutramine นั้น บริษัทยาได้ขอถอนทะเบียนแล้ว เนื่องจากอาจเกิดอันตรายจากการทำให้หัวใจเต้นเร็วและผิดจังหวะได้

Orlistat คืออะไร

   Orlistat เป็นยาลดความอ้วนที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ gastric lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากกระเพาะอาหารและยังยับยั้ง pancreatic lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากตับอ่อน เอนไซม์เหล่านี้ทำหน้าที่ย่อยสลายไขมันจากอาหารที่อยู่ในรูปไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นไขมันที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ให้กลายเป็นกรดไขมันและกลีเซอรอลซึ่งมีขนาดโมเลกลุเล็กลง เมื่อเอนไซม์ถูกยับยั้งจึงทำให้ไขมันยังคงอยู่ในลักษณะที่เป็นโมเลกุลใหญ่จึงไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดการขับถ่ายเป็นไขมันออกทางอุจจาระ ดังนั้น orlistat จะออกฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อมีอาหารที่มีไขมันอยู่เท่านั้น ไม่ว่าไขมันจะอยู่ในอาหาร นม หรือน้ำมันก็ตาม

ข้อบ่งใช้

   Orlistat เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน (obesity)มักจะเริ่มใช้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยมีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมี BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร  ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไขมันในเลือดสูง โดยที่ผู้ป่วยได้ผ่านการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการปรับพฤติกรรมแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้จนถึงเป้าหมาย โดยการใช้ยา orlistat จะได้ผลดีนั้นจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการเพิ่มการออกกำลังกายเสมอ

ดัชนีมวลร่างกาย (BMI) สามารถคำนวณได้ ดังนี้

ดัชนีมวลร่างกาย(BMI) = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม

(ส่วนสูงเป็นเมตร)2

ขนาดยาและวิธีการรับประทาน

   ปัจจุบันประเทศไทยมี orlistat ในรูปแบบแคปซูลขนาดความแรง 120 มิลลิกรัม โดยขนาดปกติที่แนะนำคือ รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง รับประทานพร้อมหรือหลังอาหารไม่เกิน 1ชั่วโมง

   โดยยา orlistatสามารถยับยั้งการดูดซึมไขมันได้สูงสุดที่ร้อยละ 30 ของปริมาณไขมันทั้งหมดที่รับประทานเข้าไป จะเห็นว่ายังมีไขมันอีกร้อยละ 70 ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงไม่ได้หมายความว่าหากรับประทานยาเข้าไปแล้วจะสามารถรับประทานอาหารที่มีไขมันได้ไม่จำกัด นอกจากนี้การใช้ยามากกว่า 360 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของยามากขึ้นแต่อย่างใด

ผลข้างเคียงและข้อควรระวังของยา

   Orlistat มีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาเอง การที่ไขมันไม่ถูกย่อยและไม่ถูกดูดซึมทำให้ไขมันออกมาพร้อมอุจจาระ ดังนั้นอาการที่พบบ่อยๆ คือ มีน้ำมันปนออกมากับอุจจาระ มีความอยากถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งกว่าเดิม ควบคุมการขับถ่ายลำบาก ปวดมวน ไม่สบายท้อง และผายลมได้ โดยมักจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากถึงร้อยละ 80 และระดับความรุนแรงก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหากใช้ยาไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์

   เนื่องจาก orlistat ยับยั้งการดูดซึมของไขมัน ส่งผลทำให้วิตามินบางตัวที่ละลายได้ในไขมันถูกดูดซึมลดลง มีการรายงานว่ามีการลดลงของระดับวิตามินอีในเลือด ในผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคไขมันในเลือดสูงที่รับประทานยา orlistat ขนาด 10-120 มิลลิกรัมทุกวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 2-3 เดือน ส่วนการลดลงของวิตามินดีพบในผู้ที่ได้รับยาขนาด 120 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง สำหรับวิตามินเอยังไม่พบว่าเกิดการลดลงของระดับวิตามินในเลือดอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม จึงมีการแนะนำให้รับประทานวิตามินเสริมร่วมด้วยในผู้ป่วยที่ใช้ยา orlistat ติดต่อกันนานมากกว่า 3 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินอยู่แล้ว  

โดยทั่วไป orlistat เป็นยาลดน้ำหนักที่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับยาลดความอ้วนชนิดอื่น แต่ในบางครั้งอาจพบผู้ป่วยหยุดยาเนื่องจากทนผลข้างเคียงไม่ได้ เช่น มีน้ำมันปนออกมากับอุจจาระ มีความอยากถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ควบคุมการถ่ายลำบาก วิธีการลดผลข้างเคียงที่เกิดจากยา orlistat คือ การลดอาหารที่มีไขมัน ซึ่งจะทำให้ไขมันที่ออกมาทางอุจจาระมีปริมาณที่ลดลงได้

   นอกจากนี้องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ทำการประกาศเปลี่ยนแปลงข้อมูลความปลอดภัยของฉลากยาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกิดความผิดปกติของตับที่รุนแรงจากการใช้ยาดังกล่าวโดยให้บุคลากรทางการแพทย์แจ้งแก่ผู้ใช้ยาถึงอาการที่อาจเกิดขึ้น ผู้ป่วยควรหยุดรับประทานยาหากมีอาการผิดปกติ เช่น เบื่ออาหาร มีผื่นคัน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด มีอาการปวดท้อง เพราะอาจนำไปสู่ความผิดปกติที่รุนแรงต่อตับจากการใช้ยา orlistat

   สำหรับหญิงตั้งครรภ์ orlistat ถูกจัดอยู่ในยาที่มีความปลอดภัยในประเภท B คือไม่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลอง และไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์ ยานี้ยังไม่มีข้อมูลการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีและหญิงให้นมบุตรจึงยังไม่มีคำแนะนำในการใช้ orlistat ในกลุ่มดังกล่าว

ปฏิกิริยากับยาอื่น

•  เมื่อใช้ orlistat ร่วมกับยาบางตัวที่มีคุณสมบัติในการชอบไขมันสูงอาจทำให้ระดับยานั้นลดลงได้ เช่น amiodaroneซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาอาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และ cyclosporineซึ่งเป็นยาเพื่อใช้ในการกดภูมิคุ้มกันจากโรคหรือจากการปลูกถ่ายอวัยวะ การใช้ orlistat ร่วมกับยาเหล่านี้อาจทำให้ระดับยาในเลือดของยาดังกล่าวลดลงได้

•  สำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด warfarin อยู่ ถึงแม้ว่า orlistat ไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงเภสัชจลนศาสตร์ของ warfarin แต่การที่ orlistat ไปรบกวนการดูดซึม vitamin K จึงอาจส่งผลรบกวนต่อการออกฤทธิ์ของยา warfarin และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้

•  มีรายงานว่าการใช้ยา orlistat อาจทำให้การดูดซึมของวิตามินที่ละลายได้ในไขมันลดลง คือ วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี และเบต้าแคโรทีนลดลง ผู้ป่วยควรรับประทานวิตามินเสริมร่วมด้วย ดังกล่าวแล้วข้างต้น

 

   นอกเหนือจากผลในการลดความอ้วนแล้ว ยังมีการศึกษาว่า orlistat สามารถให้ผลในด้านอื่นเพิ่มเติมด้วย จากการศึกษาของ Torgerson และคณะ (XENDOS study) ที่ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) จำนวน 3,304 คน เป็นระยะเวลา 4 ปี โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับ orlistat และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ทั้งนี้ผู้ป่วยทั้งหมดจำเป็นต้องควบคุมอาหาร และมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการรับประทานยาด้วย ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ได้รับ orlistat สามารถลดน้ำหนักได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก และยังช่วยชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2ได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะกลุ่มที่มี impaired glucose tolerance

 

   Orlistat นั้นถือเป็นยาลดความอ้วนที่มีประสิทธิภาพดี และยังสามารถใช้ป้องกันน้ำหนักเพิ่มหลังมีการลดความอ้วนแล้วรวมถึงพบผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับยาลดความอ้วนตัวอื่น อย่างไรก็ตามการลดน้ำหนักและรักษาโรคอ้วนที่ได้ผลดีที่สุดนั้นต้องประกอบด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการปรับพฤติกรรม การใช้ยาลดความอ้วนสามารถนำมาใช้เพียงเพื่อเสริมวิธีการดังกล่าวเท่านั้น ผู้ป่วยโรคอ้วนที่จำเป็นต้องใช้ยาควรตระหนักเสมอว่าการใช้ยาให้ได้ประสิทธิผลต้องมีการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมร่วมด้วย การใช้ยาลดความอ้วนให้ผลแค่เพียงในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อเลิกใช้ยา ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสสูงในการกลับมาเป็นโรคอ้วนดังเดิม ดังนั้นผู้ที่ต้องการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้องก่อนการใช้ทุกครั้ง

 

บรรณานุกรม

  1. Orlistat. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Jun 15. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Jun 15].
  2. FDA Adds Risk for Severe Liver Injury to Orlistat Label [Online]. 2010 May [cited 2010 June 2]; Avaliable from : http://www.medscape.com/viewarticle/722495
  3. Torgerson, JS, Hauptman, J, Boldrin, MN, Sjostrom, L. XENical in the prevention of diabetes in obese subjects (XENDOS) study: a randomized study of orlistat as an adjunct to lifestyle changes for the prevention of type 2 diabetes in obese patients. Diabetes Care 2004; 27:155.
  4. สุรัตน์ โคมินทร์ และ ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร. Critical review of current and new options of obesity management: choosing the right option for the right patient.ใน:สุรกิจ นาฑีสุวรรณ, บุษบา จินดาวิจักษณ์ และสุวัฒนา จุฬาวัฒนทล,บรรณาธิการ. Advances in pharmacotherapeutics and pharmacy practice. กรุงเทพ: สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล;   พศ.2548: หน้า 50-57.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.