Knowledge Article


สเต็มเซลล์ (Stem Cell); เซลล์ต้นกำเนิด ตอนที่1: สเต็มเซลล์คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร?


อาจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร
ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
232,064 View,
Since 2014-06-08
Last active: 2h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ในยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน หลายท่านมักจะได้ยินคำว่าสเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านทางโทรทัศน์ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือแม้แต่ผ่านเพื่อนร่วมงาน ส่วนมากมักบรรยายถึงประโยชน์หรือความเป็นไปได้ในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรค การชลอวัย หรือแม้แต่การนำไปใช้ในเรื่องความสวยความงาม และมีการอวดอ้างสรรพคุณที่หลากหลาย แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเสนอโปรแกรมเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือเด็กหลังคลอดเพื่อนำไปรักษาโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาหลายแสนบาท ในฐานะของผู้รับข้อมูลข่าวสาร เราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าข้อมูลใดสามารถเชื่อถือได้ และคุ้มที่จะจ่ายเงินเพื่อรับบริการหรือไม่ อย่างไร ข้อมูลดังต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านตัดสินใจได้รอบคอบมากยิ่งขึ้น
  1. สเต็มเซลล์คืออะไร เซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์คือเซลล์ชนิดพิเศษพบได้ทุกช่วงเวลาของการเจริญเติบโตในสิ่งมีชีวิต สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดและสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย เช่น เซลล์ผิวหนัง สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และเซลล์เม็ดเลือด มีหน้าที่สำคัญในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกาย
  2. สเต็มเซลล์มีกี่ชนิด อะไรบ้าง เซลล์ต้นกำเนิดแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เซลล์ต้นกำเนิดที่แยกได้จากตัวอ่อน และเซลล์ต้นกำเนิดที่แยกได้จากสิ่งมีชีวิตโตเต็มวัย หรือจากเนื้อเยื่อ คุณสมบัติของเซลล์ทั้ง 2 ชนิดมีความแตกต่างกัน เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย ยกเว้นเซลล์จากรก ส่วนเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเต็มวัยสามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์เฉพาะในเนื้อเยื่อนั้นๆ เช่น สเต็มเซลล์ของเลือด สามารถเปลี่ยนเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด
  3. สเต็มเซลล์สามารถใช้รักษาโรคชนิดใดได้ โรคที่ทางการแพทย์ยอมรับว่าสามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาได้ มีเพียงโรคที่เกิดจากความผิดปกติในระบบเลือดเท่านั้น เช่นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย โรคโลหิตจางหรือทาลัสซีเมีย ซึ่งรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากไข ส่วนโรคอื่นๆ ที่มีการอ้างว่ารักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดได้ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งอาจจะให้ผลดีในการรักษาในอนาคตแต่ยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในการรักษามาตรฐาน ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยได้โดยผ่านสถานบริการสาธารณสุขที่ดำเนินโครงการวิจัยอย่างถูกต้อง
  4. การเก็บสเต็มเซลล์ของตนเองจำเป็นแค่ไหน ในเวลานี้ยังไม่มีข้อบ่งใช้ในการนำเซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บแช่แข็งไว้มาใช้รักษาตนเอง และไม่มีการรับรองว่ารักษาโรคได้จริง โรคที่สามารถรักษาได้คือโรคเลือดหรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมในระบบเลือด ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยแหล่งเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาครายอื่นๆ เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยย่อมมีความผิดปกติทางพันธุกรรมดังกล่าวอยู่ ไม่สามารถนำมารักษาได้ ส่วนการแก้ไขความผิดปกติในระดับพันธุกรรมหรือการรักษาด้วยยีนบำบัด อาจจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดของตนเองแต่อย่างไรก็ตามเราสามารถเก็บเซลล์จากผู้ป่วยในช่วงเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้นาน
  5. เก็บสเต็มเซลล์จากสายสะดือทารกจำเป็นหรือไม่ บริษัทหรือโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเสนอโปรแกรมเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากทารกแรกคลอดโดยให้เหตุผลว่า เมื่อเด็กโตขึ้นจะใช้เซลล์ที่เก็บไว้ในการรักษาโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่น โรคอัลไซเมอร์ เบาหวาน โรคหัวใจ อัมพาต เป็นการคาดเดาอนาคต การศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้เซลล์จากสายสะดือรักษาโรคดังกล่าวได้ เพราะโรคดังกล่าวมีการศึกษาในเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนเท่านั้นและความรู้ในปัจจุบันสามารถสร้างเซลล์ตัวอ่อนเฉพาะบุคคลจากเซลล์ร่างกายชนิดใดและในช่วงวัยใดก็ได้ โดยวิธีดังกล่าวเรียกว่า Cellular Reprogramming หรือการสร้าง iPS cells (Induced Pluripotent Stem Cells) ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกันเซลล์ต้นกำเนิดระยะตัวอ่อน ซึ่งไม่ต้องอาศัยเซลล์จากสายสะดืออีกต่อไป
  6. ผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดเชื่อถือได้จริงหรือ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ห้ามใช้เซลล์หรือเนื้อเยื่อ หรือผลิตภัณฑ์จากร่างกายมนุษย์ เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางค์ จากประกาศฉบับนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์เลี่ยงไปใช้ข้อความอื่นๆ ในการโฆษณาชวนเชื่อ เช่นซีรัมหรือครีมที่มีส่วนผสมจากสเต็มเซลล์รกแกะ หรือมีส่วนผสมจากสเต็มเซลล์จากพืช การพิจารณาว่าสามารถเชื่อถือในสรรพคุณที่อวดอ้างได้หรือไม่ให้สังเกตด้วยหลักการง่ายๆ ว่า สารที่ผลิตออกมาจากเซลล์ต้นกำเนิดที่คาดว่าอาจจะมีส่วนช่วยในความสวยความงามคือโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งส่วนมากเป็นสารช่วยการเจริญเติบโต (Growth factor) หรือสารพวกไซโตไคน์ (Cytokine) สารเหล่านี้จะสลายตัวในอุณภูมิห้องได้เร็วมากและสูญเสียสภาพเพียง 1-2 วัน ถึงแม้ว่าจะเก็บแช่แข็งก็ไม่เหมาะสมในการเก็บรักษาเพราะการละลายออกมาใช้งานจะทำให้โปรตีนเสื่อมสภาพได้เช่นกัน ส่วนสารที่อ้างว่าสกัดมาจากสเต็มเซลล์จากพืชแท้ที่จริงแล้วเป็นสารเคมีที่พืชสร้างขึ้น ซึ่งอาจจะได้ผลในการใช้จริง เช่น มีส่วนประกอบของวิตามินซี หรือกรดผลไม้บางชนิด แต่นั่นไม่ใช่สารจากสเต็มเซลล์แต่อย่างใด ควรเรียกว่าผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรจึงจะเหมาะสมกว่า
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนี้คงมีส่วนในการตัดสินใจเลือกเข้ารับบริการหรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้คำว่า “สเต็มเซลล์” หรือเซลล์ต้นกำเนิดอย่างมีวิจารณญาณและไม่ถูกหลอกลวงจากแหล่งข้อมูล

บนความในตอนต่อไปจะกล่าวถึงเซลล์ต้นกำเนิดในระยะตัวอ่อนที่พัฒนามาจากเซลล์ร่างกาย และความเป็นไปได้ในการรักษาโรครวมถึงข้อมูลของการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคที่ยังอยู่ในการศึกษาทางคลินิก

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.oryor.com/oryor_stemcell/main.html
  2. http://stemcells.nih.gov/info/basics/Pages/Default.aspx
  3. http://www.closerlookatstemcells.org/
  4. Thomson JA, Itskovitz-Eldor J, Shapiro SS, Waknitz MA, Swiergiel JJ, Marshall VS, et al. Embryonic stem cell lines derived from human blastocysts. Science. 1998 Nov 6;282(5391):1145-7.
  5. Giarratana MC, Kobari L, Lapillonne H, et al. (January 2005). "Ex vivo generation of fully mature human red blood cells from hematopoietic stem cells". Nat. Biotechnol. 23 (1): 69–74.
  6. Singec I, Jandial R, Crain A, Nikkhah G, Snyder EY (2007). "The leading edge of stem cell therapeutics". Annu. Rev. Med. 58: 313–28.
  7. Takahashi K, Tanabe K, Ohnuki M, Narita M, Ichisaka T, Tomoda K, et al. Induction of pluripotent stem cells from adult human fibroblasts by defined factors. Cell. 2007 Nov 30;131(5):861-72.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.