ณ วันนี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยิน คำว่า
“ถั่งเช่า” หรือ
“ถั่งเฉ้า” สมุนไพรที่อ้างกันว่าช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ จริง ๆ แล้ว “ถั่งเช่า” คืออะไร มีสรรพคุณตามคำกล่าวอ้างเหล่านั้นหรือไม่? บทความนี้มีคำตอบ
“ถั่งเช่า” หรือที่รู้จักกันว่า
“ไวอากร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย” หรือ ตังถั่งเช่า หรือ ตังถั่งแห่เช่า แปลเป็นไทยว่า
“ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” หรือที่เรียกกันว่า
“หญ้าหนอน” ทั้งนี้เพราะว่า ยาสมุนไพรชนิดนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน คือ ตัวหนอนของผีเสื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Hepialus armoricanus Oberthiir และบนตัวหนอนมีเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Cordyceps sinensis (Berk.) Saec. หนอนชนิดนี้ในฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์เห็ดจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์ และเมื่อฤดูร้อนสปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้น เส้นใยงอกออกจากท้องของตัวหนอน และงอกออกจากปากของมัน เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์มันจึงงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อย ๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตายซาก ฉะนั้น “ถั่งเช่า” ที่ใช้ทำเป็นยาก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง
ถั่งเช่าพบได้ในแถบทุ่งหญ้าบนภูเขาประเทศจีน (ธิเบต) เนปาล และภูฏาน ระดับความสูง 10,000-12,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่เพาะในบริเวณภาคใต้ในมณฑลชิงไห่ เขตซางโตวในธิเบต มณฑลเสฉวน ยูนนาน และกุ้ยโจว การเก็บถั่งเช่าจะเก็บในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ เมื่อขุดตัวหนอนขึ้นจากดินแล้ว ล้างน้ำให้สะอาด แล้วตากแห้ง การเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในที่แห้ง
“ถั่งเช่า” ถือได้ว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ มีสรรพคุณทางยาแผนโบราณที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศจีนในเรื่องของกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ และใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต เป็นต้น
องค์ประกอบทางเคมีของถั่งเช่า
ถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ (galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (adenosine, cordycepin), cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล (ergosterol, beta-sitosterol) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่างๆ ( Vit E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่าง ๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม) เป็นต้น
รายงานการวิจัยในคน
ถึงแม้ว่า “ถั่งเช่า” มีการใช้อย่างแพร่หลายและมีราคาสูง แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในคนอย่างเป็นระบบมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น
-
กรณีศึกษาฤทธิ์ต่อการกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ พบว่าการวิจัยในผู้ชาย 22 คน ใช้ถั่งเช่าเป็นอาหารเสริม พบว่าช่วยเพิ่มจำนวนของสเปิร์มในอสุจิได้ 33% และมีผลลดปริมาณของสเปิร์มที่ผิดปกติลง 29% และมีอีกกรณีศึกษาในผู้ป่วยทั้งชายและหญิง 189 คน ที่มีความต้องการทางเพศลดลง พบว่าถั่งเช่าสามารถช่วยทำให้อาการและความต้องการทางเพศสูงขึ้น 66% นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสนับสนุนว่าการรับประทานถั่งเช่าจะช่วยปกป้องและช่วยให้การทำงานของต่อมหมวกไต ฮอร์โมนจากต่อมไทมัส และจำนวนของสเปิร์มที่สามารถปฏิสนธิได้เพิ่มขึ้น 300 % และช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศของผู้หญิงได้ 86%
-
กรณีศึกษาฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยทำการศึกษาในผู้ชาย 5 คน (อายุเฉลี่ย 35 ปี) ที่ถุงลมถูกกระตุ้นให้อักเสบด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น interlukin-1beta (IL-1beta), interlukin-6 (IL-6), interleukin-8 (IL-8), interleukin-10 (IL-10) และ tumor necrosis factor-alpha (TNF-alpha) ได้ จึงส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น
-
กรณีศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานถั่งเช่าปริมาณ 3 กรัม/วัน พบว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ถึง 95% ในขณะที่กลุ่มที่รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เพียง 54%
-
กรณีศึกษาฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของไต
มีงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง 28 คนรับประทานถั่งเช่า (Cordyceps sinensis) ปริมาณ 3-5 กรัม/วัน พบว่าถั่งเช่าส่งผลลดปริมาณเม็ดเลือดขาวกลุ่มย่อยบางชนิดและอาจส่งผลดีต่อการทำงานของไตได้ [1] แต่งานวิจัยฉบับนี้ไม่สามารถระบุรายละเอียดของวิธีการวิจัยหรือสิ่งที่ใช้วัดผลการทำงานของไตที่ชัดเจน รวมไปถึงระดับความเปลี่ยนแปลงของการทำงานของไตที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากการวิจัยนี้ได้ นอกจากนี้ยังพบข้อมูลอื่นๆ ที่รายงานผลของถั่งเช่าต่อระบบการทำงานของไตหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตวายเรื้อรัง เช่น ผลต่อระดับโปรตีนในปัสสาวะ ผลต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง ผลต่อระดับสารต้านอนุมูลอิสระ หรือผลลดความเป็นพิษต่อไตจากยาบางชนิด [2] แต่ข้อมูลดังกล่าวนั้นได้จากการนำเสนอผลการศึกษาในงานประชุมวิชาการซึ่งยังไม่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้ไม่สามารถประเมินความเหมาะสมของคุณภาพการศึกษาผลของถั่งเช่าดังกล่าวได้ ดังนั้นโดยรวมจะเห็นว่าคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลของถั่งเช่าและผลต่อระบบการทำงานของไตนั้นยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดและไม่อาจใช้ยืนยันประโยชน์ที่ชัดเจนได้
การศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
เป็นการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์ปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ และกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
ข้อควรระวัง
-
ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด
-
ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
-
ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) ทั้งนี้เพราะว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
“ถั่งเช่า” ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรสุดฮิตในปัจจุบัน เป็นการใช้ตามสรรพคุณของภูมิปัญญาที่มีมานานกว่าศตวรรษ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อย ฉะนั้นการใช้ถั่งเช่าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะ ถั่งเช่ามีราคาสูงมาก ทั้งนี้ยังพบว่าในท้องตลาดมีถั่งเช่าหลายระดับคุณภาพมาก ตามภูมิปัญญาของจีนมีการจัดคุณภาพของถั่งเช่าเป็น 3 ระ ดับ ระดับที่ดีที่สุด ความยาวของตัวเห็ดจะเท่ากับความยาวของตัวหนอน (ประมาณ 3-4 เซนติเมตร) ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองซึ่งเป็นเห็ดสกุลเดียวกับตังถั่งเช่า (Cordyceps) แต่คนละชนิด (species) และมีการกล่าวอ้างว่ามีคุณภาพดีกว่าตังถั่งเช่า ซึ่งจะต้องมีการศึกษาพิสูจน์ต่อไป นอกจากนี้ขนาดบริโภคของผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปี) ในแต่ละวัน ประมาณ 3-9 กรัม ชงกับน้ำร้อน หรือประกอบอาหาร ขนาดการใช้ที่มากเกินไปอาจจะก่อเกิดผลเสียได้ การใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงในนมบุตร และในเด็ก ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ และห้ามใช้ในคนที่แพ้เห็ด Cordyceps ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ ฉะนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้และควรมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ถั่งเช่าในการรักษาโรคเพื่อความปลอดภัยและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค
เอกสารอ้างอิง
- Guan YJ, Hu Z, Hou M. [Effect of Cordyceps sinesis on T-lymphocyte subsets in chronic renal failure]. Zhongguo Zhong Xi Yi Jie He Za Zhi. 1992 Jun;12(6):338-9, 323. Chinese. PMID: 1421972.
- Zhu, J.S., & Rippe, J. (2004). In Proceedings of the American physiological society’s (APS) annual scientific conference, experimental biology. Washington, DC.
-
http://www.naturalstandard.com/
-
Shashidhar MG, Giridhar P, Udaya Sankar K, Manohar B. Bioactive principles from Cordyceps sinensis: A potent food supplement – A review. J Functional Food 2013;5(3):1013-30.