คำตอบ
ลักษณะของบรรจุภัณฑ์ของยาเป็นสิ่งที่ต้องขึ้นทะเบียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือสีสันที่แตกต่างไปจากที่ขึ้นทะเบียนไว้เป็นอย่างมากเป็นสิ่งต้องห้าม อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของเฉดสีกล่องบรรจุภัณฑ์และลักษณะการพิมพ์บนกล่องหรือแผงยาที่คลาดเคลื่อนหรือปรับเปลี่ยนเล็กน้อยสามารถเกิดขึ้นได้จากขั้นตอนการพิมพ์หรือผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ และผู้ผลิตจะต้องชี้แจงการเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างเล็กน้อยดังกล่าว แต่หากเป็นรุ่นการผลิต (lot number) เดียวกันและลักษณะของผลิตภัณฑ์แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น สีกล่องบรรจุภัณฑ์คนละสี กล่องบรรจุคนละรูปทรง หรือ ฟอนต์ที่ใช้คนละแบบ อาจเป็นไปได้ว่าอันหนึ่งจะเข้าข่ายเป็นยาปลอมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีข้อบ่งชี้อื่น ๆ เช่น รายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ของยามีไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง เช่น เลขทะเบียนตำรับยาที่ขึ้นไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่ตรงกับยาที่ระบุไว้บนกล่อง (ตรวจสอบทะเบียนตำรับยาได้จากเว็บไซต์ :
https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx) ชื่อยา ขนาดความแรง ที่ตั้งสถานที่ผลิตยา วันที่ผลิตหรือวันที่หมดอายุ รวมไปถึงช่องทางการซื้อยามาจากอินเทอร์เน็ตหรือซื้อจากผู้ที่ไม่ใช่เภสัชกร โดยสามารถสังเกตได้จากป้ายแสดงตัวตนของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานที่ติดอยู่ภายในร้านขายยา ดังนั้นหากยาที่ซื้อมาเข้าข่ายน่าสงสัย อาจสอบถามจากทางร้านเพิ่มเติมว่าทางบริษัทผู้ผลิตมีการปรับลักษณะบรรจุภัณฑ์หรือไม่ หรือติดต่อศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฏหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) เพื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขสายด่วน 1556 หรือ เบอร์โทรศัพท์ 02-5907354-5, 02-5901556
Reference:
(1) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อันตรายจากการใช้ยาปลอม [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://db.oryor.com/databank/data/radio/documentary_text/501227_บทสารคดี_อันตรายจาก_การใช้ยาปลอม_(_5_นาที_ปี_51_)_503.pdf
(2) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ตรวจสอบการอนุญาต [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx
Keywords:
ยาปลอม, lot number