คำตอบ
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นยาที่รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์อันเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันหรือมีการป้องกันแต่อาจล้มเหลว (เช่น การลืมรับประทานยาคุมกำเนิดแบบแผง ถุงยางอนามัยชำรุด) จึงใช้กรณีฉุกเฉินเท่านั้น ยาคุมฉุกเฉินชนิดที่ใช้กันมากมีตัวยาสำคัญคือเลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) ตามที่ถามมานี้หากผู้ถามไม่ได้รับประทานยาคุมกำเนิดแบบแผง (หมายถึงยาคุมชนิดรับประทานสม่ำเสมอทุกวัน) อยู่ก่อน เมื่อผู้ถามได้รับประทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้วไม่ต้องรับประทานยาคุมแบบแผงตามไป เพราะยาคุมแบบแผงไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว แต่หากผู้ถามหมายถึงว่าจะใช้ยาคุมฉุกเฉินเช่นนี้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เสมือนใช้แทนยาคุมแบบแผงได้หรือไม่นั้น ขอให้ข้อมูลว่ายาคุมฉุกเฉินจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้นและไม่อาจใช้แทนยาคุมแบบแผงชนิดรับประทานสม่ำเสมอ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่ายาคุมแบบแผง แม้ในผู้ที่รับประทานยาคุมฉุกเฉินอย่างถูกต้องยังพบอัตราล้มเหลว (เกิดการตั้งครรภ์) ได้สูงสุดถึง 3% ส่วนยาคุมแบบแผงหากมีการใช้ยาอย่างถูกต้องมีอัตราล้มเหลวรายปีเพียง 0.3% ซึ่งต่างกันมาก นอกจากนี้การรับประทานยาคุมฉุกเฉินบ่อยครั้งใน 1 เดือนประสิทธิภาพอาจลดลงได้ และยาคุมฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนสูงจึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ได้มาก (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน” โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/419)
Reference:
-
Keywords:
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน, ยาคุมกำเนิดแบบแผง, ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์