หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทำไม Viaflex (glucosamine sulfate) ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่ Flexsa (glucosamine sulfate potassium chloride) สามารถใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ อยากทราบความแตกต่างของเกลือสองตัวนี้ค่ะว่ามีผลต่อการหลั่งอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างไร

ถามโดย ไอริน เผยแพร่ตั้งแต่ 06/03/2014-11:05:36 -- 16,185 views
 

คำตอบ

Glucosamine เป็นส่วนประกอบในโครงสร้างของกระดูกอ่อน โดยนำไปใช้สร้าง glycosaminoglycans และ proteoglycans การออกฤทธิ์ของ glucosamine จึงเป็นการเสริมสร้างกระดูกอ่อนและเชื่อว่าสามารถลดอาการของโรคข้อเสื่อมได้ มีรายงานว่า glucosamine อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด โดยกลไกไม่ได้เกี่ยวกับการหลั่งอินซูลิน แต่ glucosamine อาจมีผลรบกวนการทำงานในเซลล์ของเนื้อเยื่อที่เป็นตำแหน่งออกฤทธิ์ของอินซูลิน ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาของเบาหวานหรือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี การศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับผลของ glucosamine ในผู้ป่วยเบาหวานยังไม่ชัดเจนและมีความขัดแย้งกัน ทำให้ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดถึงผลของ glucosamine ต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือภาวะดื้ออินซูลิน อย่างไรก็ตามคำแนะนำในปัจจุบันไม่ได้ห้ามใช้ glucosamine ในผู้ป่วยเบาหวาน แต่แนะนำให้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดให้บ่อยขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับ glucosamine ส่วนรูปแบบเกลือที่แตกต่างกันของยาไม่ได้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด การที่ยาทั้งสองยี่ห้อเตือนให้ตระหนักหรือระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวานไม่เท่ากันอาจเพราะยังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดของยากลูโคซามีนต่อภาวะเบาหวาน ดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวานได้รับยา glucosamine ไม่ว่าจะยี่ห้อใดควรมีการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่อง Key words: glucosamine, diabetes, insulin resistance

Reference:
1. Simon RR, Marks V, Leeds AR, Anderson JW. A comprehensive review of oral glucosamine use and effects on glucose metabolism in normal and diabetic individuals. Diabetes Metab Res Rev 2011; 27: 14-27.
2. MICROMEDEX 2.0® [Database on the internet]: Truven health analytics; 2013. mobileMicromedex® , Glucosamine ; Available from: http://www.micromedexsolutions.com

Keywords:
-





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้