หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นโรคกรดไหลย้อน เคยทานยา miracid คู่กับ motillium -M อยู่ระยะหนึ่ง แต่กลับยังมีอาการแสบร้อนกลางอก มีคนแนะนำให้ทาน sucralfate พบว่ามีอาการดีขึ้น อยากทราบสาเหตุครับว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะปกติแค่ยา PPI ก็น่าจะพอแล้วไม่ใช่หรือครับ

ถามโดย เอ เผยแพร่ตั้งแต่ 17/11/2013-08:44:12 -- 21,449 views
 

คำตอบ

ตามแนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน ไม่ได้แนะนำให้ยา sucralfate เป็นตัวเลือกแรกในการรักษาโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากยากลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดและเป็นยาตัวเลือกแรกในการรักษาโรคกรดไหลย้อน โดยทั่วไปหากผู้ป่วยไม่ตอบสนองอย่างเพียงพอต่อยา PPIs ชนิดหนึ่งก็จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนเป็น PPIs ชนิดอื่นหรือปรับเพิ่มขนาดยา PPIs (1) ส่วนยา sucralfate ซึ่งเป็นสารประกอบเชิงซ้อน ในภาวะที่สัมผัสกับกรด จะเปลี่ยนเป็นสารที่เหนียวข้นและจะเข้าจับแผลในทางเดินอาหาร มีฤทธิ์เป็น mucosal protective agent คือปกป้องแผลจากฤทธิ์ของกรดแนะน้ำย่อย จากข้อมูลพบว่า sucralfate ไม่ได้มีบทบาทแต่เพียงรักษาแผลกระเพาะอาหาร (gastric ulcer) แต่ยังมีบทบาทและประสิทธิภาพในการรักษาแผลที่หลอดอาหารอันเนื่องจากภาวะกรดไหลย้อน (reflux esophagitis) และ sucralfate เป็นยาชนิดหนึ่งที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ แม้ว่า sucralfate สามารถใช้รักษาโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน แต่ยานี้ไม่ได้มีการศึกษาแพร่หลายมากนักในกรณีใช้รักษาโรคกรดไหลย้อนเมื่อเปรียบเทียบกับยา H2 receptor antagonist (H2RA) มีข้อมูลรายงานว่า sucralfate มีประสิทธิภาพเหนือว่า placebo และเทียบเท่ายากลุ่ม H2RA (2) และยังมีข้อมูลจากการศึกษาแบบ meta-analysis เปรียบเทียบอัตราการหายจากรอยโรคกรดไหลย้อนในทุกระดับความรุนแรงเปรียบเทียบระหว่างยากลุ่ม PPIs, H2RA, sucralfate และ placebo พบค่าเฉลี่ยสัดส่วนการหายจากรอยโรคของของยากลุ่ม PPIs ประมาณ 83.6%, H2RA ประมาณ 51.9%, sucralfate ประมาณ 39.2% และ placebo ประมาณ 28.2% (3) จากข้อมูลข้างต้นพบว่า sucralfate เป็นยาที่มีประสิทธิภาพไม่สูงนักในการรักษาภาวะกรดไหลย้อน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยแต่ละรายก็อาจตอบสนองต่อยานี้ได้แตกต่างกัน Key words: Sucralfate, GERD, กรดไหลย้อน

Reference:
1. Katz PO, Gerson LB, Vela MF. Guidelines for the Diagnosis and Management of Gastroesophageal Reflux Disease. American College of Gastroenterology 2013; 108: 308-28.
2. Hameeteman W. Clinical studies of sucralfate in reflux esophagitis: the European experience. J Clin Gastroenterol.1991;13 Suppl 2:S16–20.
3. Chiba N, De Gara CJ , Wilkinson JM et al. Speed of healing and symptom relief in grade II to IV gastroesophageal reflux disease: a meta-analysis. Gastroenterology 1997 ; 112 : 1798 – 810.

Keywords:
-





ทางเดินอาหาร

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้