ปัจจุบันอายุ 45 ปี รับประทานยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด มาเกิน 15ปี เมื่อ 5 ปีก่อนหยุดรับประทานยาคุมไปประมาณ 1 ปี ระหว่างนั้นมีอาการปวดประจำเดือนมากกว่าปกตืลักษณะประจำเดือนเป็นลิ่มเลือดสีคล้ำมาก ไปตรวจแพทย์บอกว่าเป็นchocolate cyst รักษาโดยฉีดยาคุมเดือนละครั้งอยู่ 3 เดือน มีหัวใจเต้นผิดจังหวะแพทย์จึงเปลี่ยนให้รับประทานยาคุมเหมือนเดิม ปัจจุบันไม่ปวด และ cyst ไม่โตขึ้น ถามว่าถ้าต้องหยุดรับประทานยาคุม หรือเข้าสู่วัยทองจะมีผลทำให้ cyst โตขึ้นหรือไม่ถ้ารับประทานต่อจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่
ถามโดย นวล เผยแพร่ตั้งแต่ 30/08/2013-22:20:58 -- 21,585 views
คำตอบ
Chocolate cyst เป็นชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งของภาวะ endometriosis หรือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูดเจริญผิดที่ เป้าหมายในการรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือ การลดอาการของโรค เช่น หากผู้ป่วยมีอาการปวดประจำเดือน การรักษาจะเน้นที่การลดอาการปวด หากเป็นกรณีที่มีถุงน้ำรังไข่ การรักษาจะเน้นการลดถุงน้ำรังไข่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้น การรักษาไม่ได้มุ่งเน้นกำจัดรอยโรค (ซึ่งโดยมากมักไม่สามารถกำจัดรอยโรคได้หมด) หากแต่เป็นการรักษาตามอาการของโรค และโดยทั่วไปรอยโรคก็มีแนวโน้มหายได้หรือดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
มีข้อมูลว่าในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การรักษาด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมจะใช้เวลานาน 6-9 เดือน แต่อย่างไรก็ตามขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วย และการหยุดยาจำเป็นต้องอาศัยการประเมินจากแพทย์ เช่น ขนาดของ cyst, อาการปวด ภาวะการมีประจำเดือน และประเด็นที่ควรคำนึงถึงคือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคที่เรื้อรัง ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน จำเป็นต้องได้รับการประเมินโดยละเอียดจากสูตินารีแพทย์อีกครั้งว่าต้องทานใช้ยาหรือไม่อย่างไร
ส่วนข้อมูลความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งเต้านมและการใช้ยาคุมกำเนิด มีข้อมูลรายงานของ National Cancer Institute ว่าการใช้ยาคุมกำเนิดจะสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่อความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม โดยความเสี่ยงจะพบได้มากในผู้ที่เริ่มการรับประทานยาคุมกำเนิดเร็ว และมีข้อมูลว่าหากหยุดรับประทานยาคุมกำเนิดนานกว่า 10 ปี ขึ้นไป ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมจะลดลงเท่ากับคนที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิดมาก่อน
Key words: chocolate cyst, endometriosis, breast cancer, contraceptive, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ยาคุมกำเนิด, มะเร็งเต้านม
Reference:
1. ประนอม บุพศิริ. Update in endometriosis. Srinagarind Med J 2010; 25: 19-23.
2. National cancer institute. Oral contraceptives and cancer risk. Available: http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/oral-contraceptives
Keywords:
-
ดูคำถามทั้งหมด