หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อวันที่ 2556 ดิฉันปาดเมื่อยหลัง และแข้งขา ไปหาหมอๆให้ยา Spamus เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ ยาพาราเซลตามอล แก้ไข้แก้ปวด ยา BUFENAC บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื่อและเส้นเอ็น และยาOmeprazole GPO ซึ่งเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลดกรดในกระเพาะอาหาร รักษาแผลในทางเดินอาหาร ให้กินก่อนอาหาร 30 นาที ส่วนยาอื่นๆนั้นให้กินหลังอาหารทันที ให้ยามากิน 5 วัน ดิฉันกินยาตามหมอ เป็นเวลา 2 วัน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เลยหยุดกินยา แต่ท้องก็อืด อาหารไม่ย่อยอยู่เหมือนเดิม ดฉันคิดว่าหมอให้ยาไม่ถูก เพราะยา Omeprazole GPO ซึ่งหมอบอกว่าเป็นยาเคลือบกระเพาะ แต่ดิฉันค้นดูในกูเกิล มันไม่ถูกกับโรคเลยดิฉันจะทำอย่างไรดี ขณะนี้ยังท้องอืดเป็นวันที่6 แล้ว จะกินยาอะไรดีท้องถึงจะหายอืืดท้อง ดิฉันไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะเลย

ถามโดย chan pa เผยแพร่ตั้งแต่ 20/08/2013-11:27:02 -- 64,086 views
 

คำตอบ

จากข้อมูลผู้ป่วยได้รับยาทั้งหมด 4 ชนิดคือ tolperisone (Spamus®), ibuprofen(Bufenac®), paracetamol และ omeprazole ซึ่งในกรณีของผู้ป่วยยาแต่ละชนิดน่าจะมีข้อบ่งใช้ตามนี้ • tolperisone ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ • paracetamol ลดอาการปวด • ibuprofen ลดอาการปวด อักเสบ • omeprazole เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อกระเพาะอาหารจากยา ibuprofen โดยยา ibuprofen เป็นยาที่ลดอาการปวดหรืออักเสบได้ดี แต่เนื่องจากยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ในบางคน เช่น ผู้ที่ได้รับยาขนาดสูงเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือผู้สูงอายุ ในทางปฏิบัติจึงมักให้ยาที่มีฤทธิ์ป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารถูกกรดทำลายควบคู่ไปพร้อมกับยา ibuprofen และยา omeprazole ก็เป็นยาที่นิยมมากตัวหนึ่ง (1) ส่วนอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ชนิดของอาหาร โรคในระบบทางเดินอาหาร ภาวะเครียด หรือยา ซึ่งในกรณีของผู้ป่วย ยาก็อาจเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด หรืออาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะยา ibuprofen ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงเช่นนั้นได้บ่อยครั้ง แม้จะได้รับยา omeprazole ร่วมด้วยแล้วก็ตาม รวมทั้งยา omeprazole ก็เป็นยาที่มีรายงานอาการข้างเคียงเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องอืดแน่นท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ได้ประมาณ 2.7 % เช่นกัน (2) ดังนั้นกรณีของผู้ป่วยควรเริ่มต้นจากการรับประทานยาแก้ปวดและคลายกล้ามเนื้อหลังอาหารทันที ไม่ควรรับประทานยาตอนท้องว่างดื่มน้ำตามมากๆ และหยุดใช้ยาเมื่ออาการปวดเมื่อยดีขึ้น ส่วนยา omeprazole โอกาสในการทำให้เกิดอาการนี้มีน้อย และยังเป็นยาที่นิยมใช้ทั้งป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จาก ibuprofen และรักษาอาการปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อยอีกด้วย จึงสามารถทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที ตามที่ได้รับคำแนะนำไว้ แต่หากปฏิบัติตามนี้แล้วยังไม่ดีขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป Key words: omeprazole, paracetamol, tolpersione, dyspepsia, flatulence, NSAIDs, อาหารไม่ย่อย, ท้องอืด, ยาลดกรด, กระเพาะอาหาร

Reference:
1. ศศิกานต์ นิมมานรัชต์. ตำราความปวดและการระงับปวดในเวชปฎิบัติ. สงขลา: ชานเมืองการพิมพ์, 2553.
2. MICROMEDEX 2.0® [Database on the internet]: Truven health analytics; 2013. mobileMicromedex®, omeprazole :[cited 2013 Aug 24]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com

Keywords:
-





ทางเดินอาหาร

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้