หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อยากทราบว่าคุ้มค่าไหมกับการฉีดaclasta เห็นว่ามีผลต่อ osteonecrosis ที่กราม แต่BMDของดิฉัน ที่lumba -4 คุณหมอแนะให้ฉีด เพราะกินไม่ไหวเป็นโรคกระเพราะ และถ้าฉีดจะทำฟันได้ไหม

ถามโดย สมหญิง สุขสบาย เผยแพร่ตั้งแต่ 31/08/2012-10:22:05 -- 19,188 views
 

คำตอบ

จากค่า BMD หรือค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก ที่lumba เป็น -4 SD แสดงถึงภาวะของโรคกระดูกพรุน ควรได้รับการรักษาโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา ยาที่ใช้ในการรักษามีด้วยกันหลายกลุ่ม เช่น การใช้ฮอร์โมนทดแทน การใช้ยาแคลซิโตนิน การใช้ยากลุ่ม bisphosphonate เป็นต้น ในกรณีแพทย์แนะนำให้ฉีด aclasta หรือชื่อสามัญทางยาว่า zoledronic acid เป็นยาในกลุ่ม bisphosphonate มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำปีละครั้ง อาการข้างเคียงของยากลุ่ม bisphosphonate ที่พบบ่อยคือ ระคายเคืองเยื่อบุหลอดทางเดินอาหาร ซึ่งยาชนิดรับประทานจะพบได้บ่อยกว่ายาฉีด ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆจะพบได้ เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก และอุจจาระร่วง เป็นต้น พบได้ใกล้เคียงกันทั้งยารับประทานและยาฉีด ยา zoledronic acid มีรายงานว่ายานี้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะกระดูกขากรรไกรตาย(osteonecrosis of jaw) อย่างไรก็ตาม พบว่ามักมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย เช่น มีโรคมะเร็งในกระดูก ประวัติการทำผ่าตัดทางทันตกรรม (เพิ่มความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่เคยผ่าตัด 7 เท่า) โรคทางทันตกรรม การบาดเจ็บจากฟันเทียม เป็นต้น และมีรายงานพบภาวะนี้ในอัตราร้อยละ 10 ภายในระยะเวลาเฉลี่ย 1.5 ปี ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้ยา zoledronic acid ซึ่งเป็นกลุ่ม biphosphonate เพื่อรักษาภาวะกระดูกพรุน โดยเฉพาะผู้ป่วย มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัยอิโลมา มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม วิธีการลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกขากรรไกรตายจากยา biphosphonate ที่ดีที่สุด คือ การรักษาสุขภาพอนามัยช่องปาก เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในช่องปาก และคอยตรวจสุขภาพฟันและช่องปากอย่างสม่ำเสมอ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบว่ารับประทานยานี้อยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดและการรักษาที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเนื้อเยื่อ

Reference:
1. Lacy CF, et al., eds., 2010-2011. Drug information handbook. 17th ed. Cleaveland: Lexi-Comp Inc.
2. Zoledronic acid.In DRUGDEX® Evaluations. [Online].2012 Sep 5. Available from: MICROMEDEX Healthcare Series; 2012. [Cited 2012 Sep 5]
3. ภาวะกระดูกขากรรไกรตายจากยาบิสฟอสฟอเนต. [Online]. Available from: http://home.kku.ac.th/kdj/images/KDJ_pdf02/vol10/vol10no1_6.pdf
4. การใช้ยาบิสฟอสโฟเนตในการรักษาโรคกระดูกพรุน. [Online]. Available from: http://www.thairheumatology.org/people02.php?id=92

Keywords:
-





กล้ามเนื้อและข้อต่อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้