หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับยา gemfibrozil 600 mg คับ พอดีไปหาหมอเรื่องไขมันมาน่ะครับ แล้วหมอก็ให้ยามาทานก่อนนอนครับ วันล่ะเม็ดแต่พอทานแล้วปวดหัวนิดหน่อยครับ แต่รู้สึกว่าเป็นทุกครั้งที่กินยาเลย ไม่ทราบว่าจะอันตรายหรือเปล่าครับ ต้องทำยังไงแล้วก็ต้องหยุดกินเลยใหมครับ อีกอย่างจะรบกวนสอบถามเรื่องกลไลของยาน่ะครับว่าเป็นยังไงบ้าง เพราะสูงทั้งโคลเลสและไตรกลีเลย ยามันลดตัวไหนบ้าง ลดอะไรยังไง เพราะอะไรอ่ะครับ ขอบคุณล่วงหน้านะคับ

ถามโดย สมบูรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 08/07/2010-10:27:08 -- 42,037 views
 

คำตอบ

ผลข้างเคียงของยา gemfibrozil ที่พบโดยส่วนใหญ่ ได้แก่ ผื่นผิวหนัง อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดเกร็งท้อง ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สำหรับอาการปวดศีรษะนั้นพบการรายงานได้ไม่บ่อยนัก ข้อมูลจากรายงานกรณีศึกษาหนึ่งระบุว่ามีผู้ป่วยหญิงอายุ 46 ปีรับประทานยา gemfibrozil เข้าไปประมาณ 30-60 นาทีและเกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง พร้อมกับพบอาการปากแห้งร่วมด้วย ซึ่งกลไกการเกิดอาการปวดหัวนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัด และข้อมูลจากรายงานกรณีศึกษาอีกฉบับหนึ่งระบุว่าผู้ป่วยชาย (อายุ 49 ปี) ที่รับประทาน gemfibrozil 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง มีอาการปวดหัวเกิดขึ้นเป็นพักๆ ปากแห้ง คอแห้ง และเกิดการมองเห็นภาพไม่ชัดร่วมด้วย แต่เมื่อทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น CT scan กลับไม่พบความผิดปกติใดๆ เมื่อหยุดยาแล้วอาการเหล่านี้หายไป และเมื่อกลับมารับประทานยาอีกครั้งก็พบอาการดังเดิม สำหรับอาการปวดศีรษะของคุณสมบูรณ์หลังจากรับประทานยา gemfibrozil นั้นมีความเป็นไปว่าอาจจะเกิดจากผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวหรือไม่ได้เกิดจากยาดังกล่าวก็ได้เช่นกัน ดังนั้นแนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการซักประวัติและวินิจฉัยอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมครับ ซึ่งแพทย์อาจทำการเปลี่ยนชนิดของยาลดระดับไขมันในเลือดหากไม่มีสาเหตุอื่นๆ ที่น่าจะเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะ กลไกการออกฤทธิ์ของยา gemfibrozil มีหลายอย่าง เช่น ยับยั้งกระบวนการสลายไขมันที่สะสมในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ลดการสร้างและเพิ่มการกำจัดไตรกลีเซอไรด์ ลดการสร้างกรดไขมัน ซึ่งผลจากกลไกเหล่านี้ทำให้ระดับ triglyceride ในเลือดลดลงได้ ดังนั้น gemfibrozil จึงถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีระดับ triglyceride ในเลือดสูงเป็นหลัก นอกจากนี้ gemfibrozil ยังสามารถช่วยลดระดับไขมันตัวร้าย (LDL) ได้แต่ประสิทธิภาพยังไม่เทียบเท่ากับยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับลดระดับ LDL โดยเฉพาะ รวมถึงยา gemfibrozil ยังช่วยเพิ่มระดับไขมันตัวดี (HDL)ได้บ้างเช่นกัน

Reference:
1. Gemfibrozil. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Feb 12. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Jul11].
2. Gemfibrozil. In: DrugPoint® Summary. [Online]. 2010 Feb 12. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Jul11].

Keywords:
-





หัวใจและหลอดเลือด

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้