หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Anifrolumab…anti-type I interferon receptor antibody สำหรับรักษาโรค systemic lupus erythematosus (SLE)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน สิงหาคม ปี 2564 -- อ่านแล้ว 4,615 ครั้ง
 
Interferons (IFNs) เป็น cytokines ที่มีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน เท่าที่มีข้อมูลในขณะนี้ IFNs ทั้งหลาย (ยกเว้น IFN-γ) จัดอยู่ในกลุ่ม type I IFNs เช่น IFN-α (alpha), IFN-β (beta), IFN-κ (kappa) ซึ่ง type I IFNs ทั้งหลายจับกับตัวรับชนิด IFN-α receptor (IFNAR) บนผิวเซลล์ ตัวรับชนิดนี้เป็น heteromeric receptor ประกอบด้วย 2 หน่วยย่อย (subunit) คือ IFNAR1 และ IFNAR2 ส่วน type II IFN มีเพียง IFN-γ (gamma) จับกับตัวรับชนิด IFN-γ receptor (IFNGR) ซึ่งทั้ง type I IFNs และ type II IFN ล้วนมีบทบาทในการต้านไวรัสและมีบทบาทอื่นอีกหลายอย่างในระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงมีบทบาทในโรคภูมิต้านตนเอง พบว่า type I IFNs มี biological activity เพิ่มขึ้นอย่างมากในผู้ป่วย systemic autoimmune diseases ไม่ว่าจะเป็นโรค systemic lupus erythematosus (SLE), rheumatoid arthritis, systemic sclerosis หรือ Sjogren’s syndrome ก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ให้ความสนใจคิดค้นยาต้าน type I IFNs เพื่อใช้รักษาโรคภูมิต้านตนเองที่กล่าวมา เมื่อเร็ว ๆ นี้มียา anifrolumab (ชื่ออื่น: anifrolumab-fnia การเรียกชื่อยาที่มีอักษร 4 ตัวต่อท้ายชื่อหลัก ดูข้อมูลในเรื่อง ชื่อยายุคใหม่...บอกข้อมูลเบื้องต้นได้ (ตอนที่ 2)) ได้รับอนุมัติแล้วในบางประเทศให้ใช้รักษาโรค SLE ในผู้ใหญ่ที่โรคอยู่ในขั้นปานกลางถึงรุนแรง (ไม่รวมผู้ที่มี lupus nephritis และ CNS lupus ที่อยู่ในขั้นรุนแรง) โดยใช้ร่วมกับการรักษามาตรฐาน ยานี้เป็น human IgG1κ monoclonal antibody ที่จับจำเพาะกับ IFNAR1 ทำให้ type I IFNs จับกับตัวรับไม่ได้ จึงขัดขวางการแสดงฤทธิ์ของ type I IFNs นอกจากนี้ยายังชักนำให้เกิด internalization ของ IFNAR1 (จึงลดจำนวน IFNAR1 บนผิวเซลล์ด้วย) anifrolumab ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาน้ำใสหรือออกเหลือบ สำหรับให้เข้าหลอดเลือดดำ ความแรง 300 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว ขนาดยาที่แนะนำคือ ครั้งละ 300 มิลลิกรัม ใช้เวลาหยดเข้าหลอดเลือดดำนาน 30 นาที ให้ยาทุก 4 สัปดาห์

มีการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ anifrolumab ในข้อบ่งใช้ข้างต้นจำนวน 3 การศึกษา ซึ่งเป็นแบบ multicenter, randomized, double-blind, placebo-controlled trial ศึกษานาน 52 สัปดาห์ ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรค SLE ขั้นปานกลางถึงรุนแรงแม้ได้รับการรักษามาตรฐานด้วยยาชนิดรับประทาน ได้แก่ corticosteroids, antimalarials และ/หรือ immunosuppressants (อาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ยาร่วมกัน) ในระหว่างการศึกษาผู้ป่วยยังคงได้รับยาเหล่านี้ในขนาดคงที่ ยกเว้น corticosteroids ที่จะค่อย ๆ ลดขนาดยาลง ไม่อนุญาตให้ใช้ biologic agents ชนิดอื่นและ cyclophosphamide ผู้ป่วยที่มี lupus nephritis และ CNS lupus ที่อยู่ในขั้นรุนแรงไม่ได้เข้าร่วมในการศึกษา ให้ anifrolumab โดยหยดยาเข้าหลอดเลือดดำทุก 4 สัปดาห์ โดยการศึกษาที่ 1 (n=305) แบ่งผู้ป่วยแบบ 1:1:1 เพื่อให้ anifrolumab ในขนาด 300 มิลลิกรัม, 1000 มิลลิกรัม และยาหลอก การศึกษาที่ 2 (n=457) แบ่งผู้ป่วยแบบ 1:2:2 เพื่อให้ anifrolumab ในขนาด 150 มิลลิกรัม, 300 มิลลิกรัม และยาหลอก และการศึกษาที่ 3 (n=362) แบ่งผู้ป่วยแบบ 1:1 เพื่อให้ anifrolumab 300 มิลลิกรัมและยาหลอก ประเมินผลด้วย BICLA (British Isles Lupus Assessment Group based Composite Lupus Assessment) หรือ SRI-4 (SLE Responder Index) ซึ่งแต่ละการศึกษาเลือกใช้ตัวประเมินผลที่ต่างกัน และมีการประเมินผลเพิ่มเติมโดยดูการลดขนาด corticosteroids (บางการศึกษาประเมินอาการทางผิวหนังที่ดีขึ้นและอัตราการกำเริบที่ลดลงอีกด้วย) พบว่าผลจาก 3 การศึกษาสนับสนุนประสิทธิภาพ anifrolumab ในขนาด 300 มิลลิกรัมที่หยดเข้าหลอดเลือดดำทุก 4 สัปดาห์ในการรักษาโรค SLE ที่โรคอยู่ในขั้นปานกลางถึงรุนแรงในผู้ใหญ่ ซึ่งทุกการศึกษาไม่ว่าจะประเมินผลด้วย BICLA หรือ SRI-4 พบว่ากลุ่มที่ได้รับ anifrolumab ให้ผลการรักษาดีกว่ายาหลอก และหากพิจารณาผลตามวิธีประเมินที่แต่ละการศึกษาเลือกใช้เป็น primary endpoint แล้ว พบว่าการศึกษาที่ 3 ซึ่งเลือกใช้ BICLA ยาให้ผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า % difference = 16.3% (95% CI= 6.3-26.3) ส่วนการศึกษาที่ 1 และการศึกษาที่ 2 เลือกใช้ SRI-4 ผลการศึกษาพบว่าเฉพาะการศึกษาที่ 1 ที่ยาให้ผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า % difference = 24.0% (95% CI=10.9-37.2) ส่วนการศึกษาที่ 2 ยามีแนวโน้มว่าให้ผลดีกว่ายาหลอกแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการประเมินถึงการลดขนาด corticosteroids จาก baseline คือขนาด ≥10 มิลลิกรัม/วัน (prednisone หรือเทียบเท่า) มีเพียงการศึกษาที่ 3 ที่พบว่ายาช่วยลดขนาด corticosteroids ได้อย่างน้อย 25% (เหลือ ≤7.5 มิลลิกรัม/วัน) ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 40 ไปจนสิ้นสุดการศึกษาในสัดส่วนผู้ป่วยที่มากกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า % difference = 21% (95% CI=6.8-35.7) ส่วนผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด (≥5%) ได้แก่ โพรงจมูกและลำคออักเสบ (nasopharyngitis), การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน, หลอดลมอักเสบ, ไอ, ปฏิกิริยาจากการหยดยา และเกิดโรคงูสวัด

อ้างอิงจาก:

(1) Saphnelo (anifrolumab-fnia) injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4834399, revised: 07/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/761123s000lbl.pdf; (2) Chasset F, Dayer JM, Chizzolini C. Type I interferons in systemic autoimmune diseases: distinguishing between afferent and efferent functions for precision medicine and individualized treatment. Front Pharmacol 2021. doi: 10.3389/fphar.2021.633821; (3) Tanaka Y, Tummala R. Anifrolumab, a monoclonal antibody to the type I interferon receptor subunit 1, for the treatment of systemic lupus erythematosus: an overview from clinical trials. Mod Rheumatol 2021;31:1-12.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้