หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Oliceridine…μ-opioid receptor agonist ชนิดใหม่สำหรับระงับอาการปวดเฉียบพลัน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน สิงหาคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 3,371 ครั้ง
 
โอปิออยด์ (opioids) มีบทบาทมากในการรักษาอาการปวดเฉียบพลันและอาการปวดเรื้อรัง ยาในกลุ่มนี้มีมากมาย เช่น tramadol, fentanyl, methadone, pethidine (meperidine), codeine, morphine เมื่อยาจับกับ μ-opioid receptor จะกระตุ้นทั้ง G protein pathway ซึ่งเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ระงับปวดและ β-arrestin pathway ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับผลไม่พึงประสงค์ของยา เมื่อเร็ว ๆ นี้มีโอปิออยด์ชนิดใหม่ที่ได้รับอนุมัติให้วางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ คือ oliceridine ยานี้ออกฤทธิ์ระงับปวดโดยมีผลไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับอาการท้องผูกและการกดการหายใจน้อย ซึ่งเดิมคาดว่ายาออกฤทธิ์เป็น μ-opioid receptor biased agonist โดยเลือกออกฤทธิ์กระตุ้น G protein pathway มากกว่า β-arrestin pathway แต่ต่อมาเชื่อว่าการที่ยามีผลไม่พึงประสงค์น้อยลงน่าจะเกิดจากยามี intrinsic efficacy ในการกระตุ้น G protein activation ลดลง ทั้งนี้เชื่อว่าการกดการหายใจที่ออกฤทธิ์ผ่าน μ-opioid receptor นั้นเกี่ยวข้องกับ G protein pathway อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่า arrestin pathway จะเกี่ยวข้องกับอาการท้องผูก oliceridine ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับระงับปวดเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรงเพียงพอที่ต้องให้โอปิออยด์เข้าหลอดเลือดดำและผู้ป่วยที่ไม่มียาทางเลือกอื่น ผลิตในรูปยาน้ำใสสำหรับให้เข้าหลอดเลือดดำ ความแรง 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร บรรจุในขวดยาปริมาตร 2 และ 30 มิลลิลิตร (ขนาด 30 มิลลิลิตร ใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยให้ยาด้วยตนเองเพื่อควบคุมอาการปวด) ขนาดยาเริ่มต้น 1.5 มิลลิกรัม ฉีดโดยบุคลากรทางการแพทย์ จากนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยให้ยาด้วยตนเองเพื่อควบคุมอาการปวด (patient controlled analgesia) ขนาดที่แนะนำคือครั้งละ 0.35 มิลลิกรัม โดยตั้งเวลากันไว้ที่ 6 นาที นอกจากนี้ในรายที่จำเป็นบุคลากรทางการแพทย์สามารถฉีดยาเพิ่มได้ครั้งละ 0.75 มิลลิกรัมเพื่อควบคุมอาการปวด โดยห่างจากการฉีดครั้งแรกหรือครั้งล่าสุด (กรณีที่ต้องฉีดอีก) ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่เกิน 27 มิลลิกรัม

การที่ oliceridine ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้น เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกมาสนับสนุน 2 การศึกษาที่เป็นแบบ randomized, double-blind, placebo- and morphine-controlled trial ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง แต่ละการศึกษาผู้ป่วยจะได้รับ oliceridine, มอร์ฟีน หรือยาหลอก การศึกษาที่ 1 ทำในผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระดูกและเนื้อเยื่อโคนหัวแม่เท้า (bunionectomy) เพื่อรักษาภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง จำนวน 389 คน อายุ 19-74 ปี ส่วนการศึกษาที่ 2 ทำในผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระชับหน้าท้อง (abdominoplasty) จำนวน 401 คน อายุ 20-71 ปี ผลการศึกษาที่ได้สนับสนุนประสิทธิภาพของยาเมื่อใช้ในขนาดตามที่ระบุข้างต้น ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยที่สุด (≥10%) จากทั้งสองการศึกษาคือ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องผูก คัน และภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (hypoxia)

อ้างอิงจาก:

(1) FDA approves new opioid for intravenous use in hospitals, other controlled clinical settings. FDA news release, August 07, 2020. https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/fda-approves-new-opioid-intravenous-use-hospitals-other-controlled-clinical-settings; (2) Conibear AE, Kelly E. A biased view of μ-opioid receptors? Mol Pharmacol 2019;96:542-9; (3) Oliceridine. RxList - The Internet Drug Index for prescription drug information. https://www.rxlist.com/olinvyk-drug.htm#description
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้