Fingolimod…กับความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มกราคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 3,587 ครั้ง
Fingolimod เป็นยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive drug) ใช้รักษา multiple sclerosis (MS) โดยใช้กับ relapsing-remitting MS ยานี้มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันจึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและโรคติดเชื้อร้ายแรงได้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง “Fingolimod…กับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและการติดเชื้อร้ายแรง” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธันวาคม ปี 2560 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1439) นอกจากนี้ fingolimod ยังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าชั่วขณะ (transient bradycardia) และ second-degree หรือ third-degree atrioventricular (AV) block ได้เมื่อเริ่มได้รับยา จึงควรเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์นี้หลังให้ยาครั้งแรกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายยังคงมีภาวะหัวใจเต้นช้าต่อไปอีกจนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง (serious cardiac arrhythmias) ยังไม่ทราบกลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าว แต่มีการศึกษาหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมาได้คาดว่าภาวะหัวใจเต้นช้าที่เกิดในช่วงแรกที่ได้รับยานั้นอาจเนื่องจากฤทธิ์ fingolimod ที่เพิ่มการทำงานของระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic activity) ในช่วง 6 ชั่วโมงแรกหลังได้รับยา และอัตราการเต้นของหัวใจก่อนได้รับยาจะช่วยในการทำนายความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าเมื่อได้รับยาดังกล่าว
เมื่อไม่นานมานี้สหภาพยุโรปได้มีการทบทวนข้อมูลด้านประโยชน์และความปลอดภัยของ fingolimod พบว่าภายหลังจากยานี้ออกวางจำหน่ายจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ข้อมูลจากทั่วโลกที่รายงานถึงการเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วเกินไปขั้นร้ายแรง (serious ventricular tachyarrhythmia) มี 44 ราย และการเสียชีวิตฉับพลัน (sudden death) มี 6 ราย จากจำนวนที่มีการใช้ยานี้คิดเป็น 397,764 คน-ปี (patient-years) ผลจากการทบทวนข้อมูลนี้ในสหภาพยุโรปได้เพิ่มความเข้มงวดในคำเตือนเกี่ยวกับผลเสียต่อหัวใจของ fingolimod โดยยกระดับเป็นข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้ว สำหรับสหราชอาณาจักรได้มีการให้ข้อมูลและข้อแนะนำแก่บุคลากรทางการแพทย์ดังนี้
- fingolimod สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรงโดยเฉพาะในปีแรกที่ใช้ยา
- ห้ามใช้ fingolimod หากผู้ป่วยมีโรคหรือความผิดปกติต่อไปนี้
o myocardial infarction หรือ unstable angina
o cerebrovascular disease (transient ischemic attacks, stroke)
o ภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการหนัก (decompensated heart failure หรือ heart failure ระดับ NYHA class III/IV) ในช่วง 6 เดือนที่แล้ว
o ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง (severe cardiac arrhythmias) ที่ต้องรักษาด้วยยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ (antiarrhythmic drugs) ใน class Ia (เช่น quinidine, procainamide, disopyramide) และ class III (กลุ่ม potassium‐channel blockers เช่น amiodarone, sotalol, ibutilide, dofetilide)
o ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติที่เนื่องจาก second‐degree Mobitz type II atrioventricular (AV) block หรือ third‐degree AV block หรือเนื่องจาก sick‐sinus syndrome หากว่าผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker)
o คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีช่วง QT ก่อนใช้ยาที่ 500 มิลลิวินาทีหรือมากกว่านี้
- หากมีอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ที่สงสัยว่าจะเกิดจากการใช้ fingolimod ให้รายงานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา
อ้างอิงจาก:
(1) Fingolimod (Gilenya): new contraindications in relation to cardiac risk. Drug Safety Update volume 11 issue 5; December 2017: 5; (2) Li K, Konofalska U, Akgün K, Reimann M, Rüdiger H, Haase R, et al. Modulation of cardiac autonomic function by fingolimod initiation and predictors for fingolimod induced bradycardia in patients with multiple sclerosis. Front Neurosci 2017. doi: 10.3389/fnins.2017.00540.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
fingolimod
ยากดภูมิคุ้มกัน
immunosuppressive drug
multiple sclerosis
MS
relapsing-remitting MS
ภาวะหัวใจเต้นช้าชั่วขณะ
transient bradycardia
second-degree
third-degree
atrioventricular (AV) block
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง
serious card