ผลงานของ อ.ประดิษฐ์

ผลงานสำคัญที่ผ่านมาของอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร
   

ครูประดิษฐ์ หุตางกูร ผู้สร้างต้นแบบร้านยาประจำคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย

ครูประดิษฐ์ หุตางกูร ผู้สร้างต้นแบบร้านยาประจำคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย

3139  Views  

เมื่อกว่าห้าทศวรรษที่ผ่านมา คงไม่มีใครนึกว่า คณะเภสัชศาสตร์จะมีร้านยาเป็นหน่วยงานหนึ่ง แต่ครูประดิษฐ์ หุตางกูร คณบดีคนแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านคิดและทำให้เกิดร้านยาขึ้น ท่ามกลางข้อจำกัดของการเป็นสถานศึกษาของทางราชการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร

 

“ตึกหาไม่ยากแต่ที่ดินหายาก” เป็นคำพูดของ ครูประดิษฐ์ หุตางกูร ที่เล่าว่าเมื่อจะตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ท่านต้องเลือกว่าจะตั้งที่ซอยโยธี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) หรือที่ถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นคณะใหม่ 2 คณะของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในเวลานั้น

 

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์พญาไท และคณะเภสัชศาสตร์พญาไท ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๑

 

ในเวลานั้น ที่ถนนศรีอยุธยา มีอาคารอยู่แล้ว แต่เป็นอาคารเก่าของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ได้ย้ายไปยังถนนพระราม 6 (ปัจจุบันเป็นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ข้างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) 

 

คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

 

หากครูเลือกที่ซอยโยธี ก็จะได้สร้างตึกใหม่ แต่ครูเลือกที่จะตั้งคณะเภสัชศาสตร์ บนถนนศรีอยุธยา ทั้งนี้เพราะครูมีจุดมุ่งหมายอยู่ในใจว่า คณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่นี้ต้องมีร้านยาของคณะฯ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกงานเภสัชกรรมชุมชน ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากของจริงว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรในการเปิดและบริหารร้านยา และเพื่อให้ประชาชนมั่นใจที่จะเข้ามาปรึกษาและได้รับยาที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม หลักสูตรของคณะฯ เองก็เน้นความรู้ด้านเภสัชกรรมคลินิกเป็นพิเศษ ทั้งยังมีการสอนวิชาเภสัชกรรมชุมชนเป็นคณะแรก 

 

ร้านยาคณะยุคแรก (ตั้งอยู่บนถนนศรีอยุธยา ชั้น 1 อาคาร 1 ซึ่งปัจจุบันคืออาคารเทพรัตน์)

 

“เวลาที่คนป่วยไปโรงพยาบาลเขาเจอหมอ เวลาเขาไปร้านยาก็ควรที่จะเจอเภสัชกร ผมเห็นว่าเภสัชกรเราไม่มีโอกาสทำงานด้านเภสัชกรรมชุมชน เว้นแต่จะเปิดร้านยาเสียเอง เพราะเกือบยี่สิบปีที่ผมเฝ้าติดตามมา ไม่มีใครเขาจ้างเภสัชกรประจำร้าน ทั้งๆ ที่หน้าที่สำคัญของเภสัชกรคือ การเป็นเภสัชกรประจำร้านยา ประชาชนคนไทยต้องพึ่งร้านยาเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเภสัชกรมีโอกาสคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนแล้ว จะสามารถช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุขได้เป็นอย่างมากแทนที่จะปล่อยให้ยาเป็นตัวสร้างปัญหาเสียเอง” เป็นคำพูดที่แสดงถึงความห่วงใยประชาชนของอาจารย์ประดิษฐ์

 

อาจารย์ให้บริการจ่ายยาและแนะนำยาแก่ประชาชน

 

ร้านยาของคณะเภสัชศาสตร์ จึงเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2522 โดยในการจัดตั้งร้านนั้นอยู่บนพื้นฐานของการให้นักศึกษาได้ฝึกงานเภสัชกรรมชุมชน มิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจ เปรียบได้กับเป็นห้องปฏิบัติการที่มีนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้โดยปฏิบัติงานจริงภายใต้การดูแลของอาจารย์ ร้านยาของคณะฯ จึงมีชื่อเรียกว่า สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน 

 

นับเป็นคณะแรกที่มีร้านยาประจำคณะ และ เป็นแบบอย่างให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอื่นทำตาม จนปัจจุบันเป็นข้อกำหนดของสภาเภสัชกรรมในการรับรองคณะเภสัชศาสตร์ให้เป็นสถาบันผลิตบัณฑิตทางเภสัชศาสตร์ ว่า มหาวิทยาลัยที่จะมีการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ขึ้น จะต้องจัดให้มีร้านยาของคณะเอง เพื่อเป็นเสมือนห้องทดลองที่ให้นักศึกษาได้ลงไปฝึกการขายและให้คำปรึกษาเรื่องยาแก่ประชาชนผู้เข้ามาใช้บริการ และให้นักศึกษาได้มีโอกาสใช้ความรู้และประสบการณ์ทั้งในด้านเภสัชศาสตร์และการจัดการ

 

โลโก้ Pharmacy Practice

โลโก้ร้านยาคุณภาพ สภาเภสัชกรรม

 

ร้านยาคณะยุคที่ 2 (ตั้งอยู่บนถนนศรีอยุธยา ชั้น 1 อาคารเทพรัตน์)

 

สิ่งที่ครูประดิษฐ์กล่าวเอาไว้ว่า ร้านยาเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยและสามารถช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุขได้ ปัจจุบันความพยายามจากทุกภาคส่วนได้ทำให้ร้านยาในประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันร้านยาได้รับการยอมรับมากขึ้น ปัญหาการไม่มีเภสัชกรประจำร้านลดลงเรื่อยๆ แนวคิดของการนำหลักการ Good Pharmacy Practice หรือ GPP พร้อมกับการดำเนินงานเกี่ยวกับร้านยาคุณภาพมีส่วนช่วยในการยกระดับมาตรฐานร้านยาไทยสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น นอกจากนี้ร้านยาจำนวนหนึ่งเริ่มทำงานเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบริการของรัฐในหลายกิจกรรมมากขึ้นและมีแนวโน้มในอนาคตที่ร้านยาจะกลายเป็นส่วนสำคัญของการให้บริการภาครัฐดังที่ได้เห็นจากช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส-19 ที่ร้านยากลายเป็นจุดกระจายชุดตรวจ rapid antigen test kit และมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้าน   

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2564 สภาเภสัชกรรมได้ออกข้อบังคับของสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) ให้เภสัชกรสามารถเจาะเลือดจากเส้นเลือดฝอยปลายนิ้ว (capillary) และอาจใช้เข็มเจาะหรือใบมีด ที่ควบคุมความลึกของการเจาะ เพื่อตรวจวัดระดับสารต่าง ๆ โดยเครื่องมือแบบพกพา เพื่อให้เภสัชกรสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาและขนาดใช้ยา และเภสัชกรสามารถฉีดยาอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังได้ และข้อบังคับของสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 3) ให้เภสัชกรสามารถให้ภูมิคุ้มกันโรคตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและมอบหมายโดยผ่านการฝึกอบรมตามที่สภาเภสัชกรรมประกาศกำหนดได้ ความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับของเภสัชกรนี้ล้วนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของครูประดิษฐ์ต่องานเภสัชกรรมชุมชน

 

ร้านยายุคปัจจุบัน (ได้รับการรับรองเป้นร้านยาคุณภาพ จากสภาเภสัชกรรม)

 

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา