โดย อรพรรณ มาตังคสมบัติ อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา
1388 Views |
ระลึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร
ข้าพเจ้าขอรำลึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ ใน 3 สถานภาพ คือ เมื่อท่านเป็นอาจารย์ ผู้ร่วมงาน และผู้บังคับบัญชา
ตอนที่ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ม.แพทยศาสตร์ ยังจำได้ว่าพวกเราตื่นเต้นกันมากที่จะได้เรียนการทำยาเม็ด ยาฉีด อาจารย์ประดิษฐ์สอนและคุม Lab วิชานี้ และคอยอธิบายให้พวกเราเข้าใจ และตระหนักถึงความละเอียด รอบคอบ ตลอดจนถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำ “ยาเม็ด” อาจารย์ให้เวลานักศึกษาทั้งในและนอกเวลาเรียน อีกทั้ง ยังแนะนำวิธีเรียน และถกปัญหาต่าง ๆ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาที่ท่านสอนอย่างสนุกสนาน พวกเราจึงรักและเคารพในความเป็น “ครู” ของท่านไม่เสื่อมคลาย
เมื่อเรียนจบ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้ามาเป็นอาจารย์ในภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นมีเพียงคณะเดียวในประเทศไทย จึงมีโอกาสได้ร่วมงานกับอาจารย์ประดิษฐ์ ซึ่งถึงแม้จะอยู่คนละภาควิชากัน แต่ก็มีกิจกรรมร่วมกันของคณะฯ และด้วยความที่เคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ จึงได้มีโอกาสเป็นลูกมือของอาจารย์ในกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เห็นว่า อาจารย์ประดิษฐ์ สละเวลาทำงานให้ส่วนรวม ซึ่งต้องการความร่วมมือจากอาจารย์และบุคลากรในคณะทุกท่าน ตลอดจนการสร้างสัมพันธไมตรีกับคณะต่าง ๆ โดยทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันเป็นระยะ แสดงถึงวิสัยทัศน์อันกว้างไกลว่า เมื่อประกอบวิชาชีพ เราจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันหลายสาขาวิชา ที่ชัดเจนยิ่งคือ วิศวกรรม บัญชี และแพทยศาสตร์
ต่อมาอาจารย์ประดิษฐ์ ได้แยกมาตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล พร้อมกับคณาจารย์จำนวนหนึ่ง รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจึงได้เป็นผู้ใต้บังตับบัญชาของ อาจารย์ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นคณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การตั้งคณะฯ ใหม่ ไม่ใช่ของง่าย ต้องได้รับความศรัทธา ร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย อีกทั้งสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอนก็ยังไม่พร้อม ในระยะแรก ๆ จึงโกลาหลพอสมควร แต่อาจารย์และบุคลากรทุกคน มีศรัทธาในตัวอาจารย์ประดิษฐ์ ท่านตั้งใจและทุ่มเทเวลาให้กับคณะฯ ประกอบกับการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่ดี รับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี และคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดลจึงเจริญรุ่งเรืองตลอดมา
ข้าพเจ้ามีความประทับใจ ในวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของอาจารย์ประดิษฐ์ ที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ในวิชาชีพให้เกิดทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ในระยะที่คณะเริ่มเปิดคือ พ.ศ. 2512 ทางสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเริ่มเน้นการสอนทางคลินิกมากขึ้น อาจารย์ประดิษฐ์จึงให้เพิ่มเวลาการเรียนการสอนทางคลินิกมากขึ้น คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จึงเป็นคณะแรกที่มีการเรียนการสอนวิชาทางคลินิก (Clinical Pharmacology และ Clinical Pharmacy) อีกทั้งยังมีภาคปฏิบัติให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ได้ร่วมเรียนข้างเตียงคนไข้กับนักศึกษาแพทย์อีกด้วย
นอกจากนี้ อาจารย์ประดิษฐ์ ยังดำริให้ตั้ง “ร้านยา” โดยให้ชื่อเป็น “ห้องปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน” เพื่อรองรับวิชาชีพ “เภสัชชุมชน” (Community Pharmacy) และใช้เป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ด้วย เราทุกคนภาคภูมิใจมากในการตั้ง “ร้านยาต้นแบบ” ซึ่งปัจจุบันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีคุณมหาศาลในการศึกษาวิชา เภสัชชุมชน/คลินิก จนถือเป็นเกณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งในการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ต่อ ๆ มา
ด้วยความปรารถนาดีของ อาจารย์ประดิษฐ์ ที่เกรงว่า นักศึกษา/เภสัชกร อาจหลงประเด็นไปสนใจทางด้าน คลินิก/ทำยา โดยเฉพาะ ท่านจึงชูวิชา “Biopharmaceutics” มาแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเชื่อมโยงของ “คุณภาพยา” กับ “ผลทางคลินิก” และ อาจารย์ยังเป็นผู้สนับสนุนท่านแรกที่ให้ทำวิจัยทางด้าน “Bioequivalence” ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2517 อีกด้วย
อาจารย์ประดิษฐ์เป็นผู้ที่ส่งเสริมและผลักดันให้วงการสาธารณสุขเห็นความสำคัญของ “เภสัชกร” จึงหาทุนให้มีการตั้ง ศูนย์ข้อมูลยา ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร จนเป็นที่ประจักษ์ ดังจะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลต่าง ๆ จะมี “ศูนย์ข้อมูลยา” เพื่อให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ และ “ศูนย์ข้องมูลสมุนไพร” มีผู้ที่สนใจมาใช้บริการเป็นจำนวนไม่น้อย
ตั้งใจว่าจะเขียนสั้น ๆ แต่ อาจารย์ประดิษฐ์มีคุณูปการกับ “วงการเภสัชฯ” และ “คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” เหลือคณานับ จึงเขียนมาเท่าที่นึกได้เท่านี้ ยังมีอีกมากที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้กล่าวถึง
สิ่งสุดท้ายที่ประทับใจข้าพเจ้าอย่างยิ่ง คือ อาจารย์ประดิษฐ์ดูแลคณาจารย์เหมือนคนในครอบครัว ทุกคนจึงทำงานอย่างมีความสุข อาจารย์แต่ละท่านคงได้รับความช่วยเหลือจากท่านต่าง ๆ กันไป สำหรับข้าพเจ้าได้รับคำสอนอันล้ำค่าเสมอ เมื่อมีปัญหาและนำไปปรึกษาท่าน เย็นวันหนึ่งอาจารย์มาพบข้าพเจ้าประสบปัญหาการถอยหลังรถ เข้าเกียร์ไม่ได้ สมัยก่อนขับรถซีตรองเกียร์กระปุก รุ่นเก่า เข้าเกียร์ถอยหลังยากมาก ๆ อาจารย์ประดิษฐ์เลยมาถอยรถให้ และท่านได้ช่วยทำให้หลายครั้ง เห็นไหมคะ ใครจะไม่รักและเคารพ มีคณบดีคนไหนจะมาช่วยอาจารย์ผู้น้อยขนาดนี้
ขอกราบอาจารย์ด้วยความเคารพรักยิ่ง
ดิฉันทำงานที่ภาควิชาจุลชีววิทยาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร เป็นคณบดี ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ตั้งใจทำงานมาก และรักคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่สุ...
อาจารย์ดิษฐ์คะ อาจารย์ เป็นแบบอย่าง ที่ยอดเยี่ยมสำหรับเภสัชกรทุกคน มีความรู้ อดทน ขยันหมั่นเพียร ทำงานด้วยใจรัก รักและทุ่มเทให้สถาบัน ไม่โอ้อวด และอื่นๆอีกมากมาย ที่ไม่มีใครสักกี่คนที่จะทำตามได้หนูรู้...
“จำเนียร รำลึกถึง อาจารย์ประดิษฐ์”ขอเรียกตัวเองว่าจำเนียร ในเนื้อหาที่เขียนนี้ จำเนียร เริ่มทำงานที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณปี พ.ศ. 2509 ขณะนั้น อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร เป็นเลขานุก...
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome