บุคลากรรำลึก

ความรู้สึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์ จากบุคลากรปัจจุบันและบุคลากรที่เกษียณอายุราชการ
   

โดย พร้อมจิต ศรลัมพ์ ลูกศิษย์ และอาจารย์ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์

1043  Views  

ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร

ผู้คิด ผู้สร้างและผู้ให้ของชาวเภสัชมหิดล

          

ในฐานะลูกศิษย์และลูกน้อง ท่านอาจารย์เป็นบุคคลตัวอย่างทั้งด้านความคิด การกระทำ และความเอื้ออาทร ในช่วงเป็นลูกศิษย์จะมองท่านเป็นแบบอย่างของอาจารย์ที่มีบุคลิกน่าเคารพ ท่านเป็นเลขานุการคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเป็นผู้ดำเนินงานจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งที่สองคู่ขนานในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ดูท่านเป็นบุคคลที่เคร่งครึม พูดน้อย ทำจริง

ต่อมาเมื่อเข้าเป็นอาจารย์ของคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีโอกาสพบและทำงานกับท่านมากขึ้น ความรู้สึกจึงเปลี่ยนไป จะเห็นท่านปฏิบัติต่ออาจารย์ผู้ใหญ่ที่ย้ายมาตั้งคณะใหม่ด้วยกัน “ท่านอาจารย์ ๓ ฉ.” (ที่พวกเราชอบเรียกกัน) ท่านอาจารย์ฉวี บุนนาค ท่านอาจารย์เฉลา ลิมปินันทน์ และท่านอาจารย์ไฉน สัมพันธารักษ์  รวมทั้งท่านอาจารย์จำลอง สุวคนธ์ ที่ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ให้เกียรติและเคารพ ขณะที่เห็นความเป็นกันเองแบบน้องรักพี่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เราเข้าใจถึงคำว่า seniority และความกตัญญู ได้เห็นความสนุกสนาน ปล่อยอารมณ์ยามท่านเล่นแบดมินตันกับลูกศิษย์และอาจารย์ เห็นความเด็ดเดี่ยวในการวางแผนพัฒนาและการตัดสินใจในการบริหารงานของคณะช่วงเริ่มต้นซึ่งมีปัญหามากมาย ขาดแคลนทั้งสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ ตลอดจนอาจารย์ และเป็นช่วงรอยต่อในการเปลี่ยนแปลงของคณะเภสัชศาสตร์ทั้งสองแห่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ขอสรุปเป็นสามประเด็นตามความคิดของตัวเอง

ท่านเป็นผู้คิด ผู้วางแผนบนข้อมูลเท็จจริงด้านวิชาการและงบประมาณ และมองข้ามไปในสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า ท่านคิดถึงการฝึกงานนักศึกษา เภสัชกรรมชุมชนต้องใช้ร้านขายยาเท่าที่จะคัดสรรได้ รวมทั้งเภสัชอุตสาหกรรมและโรงงานผลิตยา คิดถึงแหล่งข้อมูลวิชาการที่เภสัชกรจะต้อง update พัฒนาตนให้ทันต่อความก้าวหน้าของวิชาการ คิดถึงการวิจัยที่ต้องมีระบบสนับสนุนคือห้องปฏิบัติการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมุนไพรไทยที่จะเป็นอนาคตในการพึ่งตนเองด้านยา คิดถึงการวิจัยของประเทศ ซึ่งต้องการนักวิจัยที่มีคุณภาพ คิดถึงงบประมาณนอกระบบที่จะช่วยสนับสนุนงานของคณะเสริมงบประมาณแผ่นดิน และอื่น ๆ อีกมากมาย 

 ท่านเป็นผู้สร้าง ท่านจึงสร้างงานซึ่งถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรที่น่าทึ่ง ที่ยังไม่มีคณะเภสัชศาสตร์ใด ๆ ทำมาก่อน และประสบความสำเร็จอย่างดี “ร้านขายยา สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน” ที่หน้าคณะ เป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาที่คณะควบคุมมาตรฐาน ให้นักศึกษาเข้าไปทำงานกับอาจารย์ สร้างจริยธรรมวิชาชีพให้เห็น “โรงงานผลิตยา” ในคณะ ที่อาจารย์ด้านการผลิตและควบคุมคุณภาพยาที่เข้าปฏิบัติและสอนนักศึกษาไปด้วย “คลังข้อมูลด้านยา และศูนย์ข้อมูลสมุนไพร” ซึ่งปัจจุบันนี้ที่ยังคงสร้างผลงานที่มีประโยชน์แก่ประชาชน วิชาชีพ ตลอดจนถึงการสนับสนุนระบบยาและสมุนไพรของกระทรวงสาธารณสุข ท่านให้จัดทำ “หนังสือมาตรฐานสมุนไพรไทยเล่มแรกของวงการ ชื่อ Specification of Thai Medicinal Plants” ท่านสนับสนุนการสร้าง “สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ” ซึ่งบัดนี้ปรับเป็น โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ และได้รับการรับรองจาก Botanic Gardens Conservation International (BGCI) ให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากลเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และท่านเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง “มูลนิธิคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” อีกด้วย

ท่านเป็นผู้ให้ของชาวเภสัชมหิดล ให้อนาคตที่สดใสแก่ศิษย์เก่าจำนวนมาก หลายคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทำประโยชน์ให้สังคม ท่านวางทิศทางและชี้แนวทางการศึกษาต่อให้อาจารย์รุ่นใหม่ในช่วงแรกของคณะ รวมทั้งติดต่อทุนศึกษาต่อต่างประเทศ ทำให้เป็นนักวิจัยชั้นนำในสาขาต่าง ๆ และเป็นผู้บริหารงานวิจัยระดับประเทศในเวลาต่อมา ที่สำคัญ ท่านทุ่มเทให้ความคิดและวิสัยทัศน์ในการประยุกต์ใช้บัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ เป็นการให้จนวาระสุดท้ายของชีวิตในห้องประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงบางส่วนที่ ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ทำให้ประเทศ วงการเภสัชกรรมและคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งล้วนเกิดจากจิตอันดีงาม ความตั้งใจ ความพยายามและความอดทน  เป็นบุคคลตัวอย่างที่อยู่คู่กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลตลอดไป

บทความอื่นๆ จากบุคลากรและผู้เกษียณฯ

บูชาคุณครู “ประดิษฐ์ หุตางกูร ก่อนเริ่มบทความนี้ขอบูชาคุณครูด้วยบทร้อยกรองของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ครูคือครู“ใครคือครู ครูคือใคร ในวันนี้ ใช่อยู่ที่ปริญญามหาศาลใช่อยู่ที่เรียกว่า ครู อาจารย...

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง เฉลิมศรี ภุมมางกูร ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

เคารพรักและระลึกถึง อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร สมัยเป็นนักศึกษา ด้วยบุคคลิกเคร่งขรึมแต่แววตาใจดีมีเมตตาของอาจารย์ประดิษฐ์ทำให้รู้สึกทั้งเคารพและยำเกรงเวลาสอนนอกจากวิชาการ อาจารย์จะสอนความรับผิดชอบใ...

ยุพิน รุ่งเวชวุฒิวิทยา ศิษย์เภสัชมหิดลรุ่น 1 และอาจารย์ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม

ร่วมรำลึกและสืบสานปณิธาน “100 ปีชาตกาลอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร”            ในฐานะที่ดิฉันเป็นทั้งลูกศิษย์ เป็นผู้ร่วมงาน และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา...

ฤดี เสาวคนธ์ อาจารย์ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา