ศิษย์เก่ารำลึก

บอกเล่าประสบการณ์ผ่านประสบการณ์ตรงของศิษย์เก่าเภสัชมหิดล
   

โดย สุเทพ ไวยครุฑธา - ศิษย์เก่าเภสัชมหิดลรุ่นที่ 10

1446  Views  

ผมเข้าเรียนเภสัชฯ ม.มหิดล ปี 2521 นับเป็นรุ่นที่ 10 เมื่อยู่ชั้นปี 1-2 เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ ถนนพระราม 6 รวมกับนักศึกษาปี 1-2 คณะอื่นๆ ชั้นปี 3-5 เรียนที่ตึกคณะเภสัชฯ สมัยนั้นยังเป็นตึกเรียนรุ่นเก่า 

 

เมื่อข้ามมาอยู่ที่คณะเภสัชฯ แต่ละวันหลังเลิกเรียน พวกเรากลุ่มหนึ่งมักมารวมตัวกันที่อาคารกิจกรรมด้านหลังตึกหน้า ที่พวกเราเรียกว่าห้องกระจก เพื่อทำกิจกรรมที่พวกเราสนใจ ร่วมกับรุ่นพี่รุ่นน้อง เวลาเย็นใกล้ค่ำเรามักเห็นท่านคณบดี อาจารย์ประดิษฐ์ ถือกระเป๋าเอกสารเดินผ่านห้องกระจก ไปยังรถที่จอดอยู่ใกล้ห้องช่างใต้ตึกหลัง ตรงที่เป็นช่องทางที่ไปยังสวนสมุนไพรหลังคณะ ตอนรถขับออกมาอาจารย์จะมองๆ พวกเราว่าทำอะไรกัน ซึ่งพวกเราก็จะอยู่ที่คณะกันจนค่ำมืดเป็นประจำ 

 

ครั้งหนึ่งมีเรื่องที่จะขอให้ท่านคณบดีเขียนคำกล่าวสั้นๆ เพื่อนำมาทำเอกสารใช้ในกิจกรรมนักศึกษา ตอนเย็นเมื่อเห็นว่ารถอาจารย์ยังจอดอยู่ จึงเดินไปห้องคณบดี ที่ตึกด้านทิศตะวันตกของตึกหน้า อาจารย์อยู่คนเดียวในห้อง ตั้งใจว่าเมื่อเรียนอาจารย์เรื่องธุระเสร็จจะกลับลงมา แต่อาจารย์ชวนให้นั่งและถามถึงเรื่องการเรียน เรื่องงานที่สนใจจะทำหลังเรียนจบ แล้วอาจารย์ก็เล่าถึงพัฒนาการและความสำคัญของวิชาชีพเภสัชกรในประเทศไทย ย้อนไปสมัยสงครามโลก (สงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2482-2488, อาจารย์ประดิษฐ์ เข้าเรียนในแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2484-2489) ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามมีการรบกันระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย เกิดการขาดแคลนในด้านต่างๆ รวมทั้งการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ซึ่งเป็นยุทธปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้คนไทยเห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศให้พึ่งพาตนเองได้ หลังสงครามสงบจึงมีการส่งเสริมให้บริษัทยาต่างประเทศ เข้ามาตั้งโรงงานผลิตยาในเมืองไทย และสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตยาของคนไทย ในเวลาเดียวกันจำเป็นต้องมีการผลิตเภสัชกรที่มีความสามารถเพื่อมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยา รวมทั้งงานเภสัชกรรมด้านต่างๆ ของประเทศ อาจารย์เล่าว่ามีโรงงานยาในเมืองไทยกี่โรงแล้ว เป็นโรงงานยาของต่างชาติกี่โรง โรงงานยาของคนไทยกี่โรง ประเทศไทยมีการใช้ยาต่อปีมูลค่าเท่าไหร่ เป็นยาที่นำเข้ามูลค่าเท่าไหร่ โรงงานยาของไทยยังผลิตได้ในขั้นทำ dosage forms โดยนำเข้าตัวยาสำคัญจากต่างประเทศ ต่อไปเราต้องผลิตตัวยาสำคัญให้ได้ในประเทศ ... ก็นั่งฟังอาจารย์เล่าอยู่นานกว่าครึ่งชั่วโมง หลังจากวันนั้นก็ไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์โดยตรงอีก

 

รุ่นเราเรียนจบ เข้ารับพระราชทานปริญญาในเดือนกรกฎาคม 2526 ท่านอาจารย์ประดิษฐ์กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในงานเลี้ยงฉลองปริญญาของพวกเรา รุ่น 10 ที่โรงแรมแมนดาริน ถนนพระราม 4 เป็นงานฉลองปริญญาของศิษย์รุ่นสุดท้ายที่อาจารย์มาร่วมงานในฐานะคณบดี  อาจารย์เกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม ปีเดียวกันนั้น หลังเรียนจบผมได้ไปทำงานที่ต่างจังหวัด ต่อมาอีกราวปีกว่าๆ พวกเราก็ได้รับทราบข่าวร้าย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2528 ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ได้จากพวกเราไป ขณะที่อาจารย์ร่วมการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลักดันให้เกิดบัญชียาหลักแห่งชาติ ท่านอุทิศให้กับงานที่มุ่งมั่นจนนาทีสุดท้ายของชีวิต พวกเราเสียใจมากแต่ก็ภูมิใจมากเช่นกัน 

 

ผมมีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้ผมได้เห็นจริงว่าคุณภาพการศึกษาที่ได้รับจากคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ที่ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ได้ก่อตั้งและดำเนินการร่วมกับคณาจารย์ยุคบุกเบิกนั้น ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างสหราชอาณาจักร ได้มาเห็นว่า textbooks ที่ นศ.เภสัชฯ ที่นั่นใช้เรียนก็เป็นเล่มเดียวกัน เนื้อหาเดียวกันกับที่พวกเราเรียนที่เมืองไทย Pharmacopoeia ก็เล่มเดียวกัน เทคนิคการทำ Lab ก็ทำได้เหมือนกัน ที่เพิ่มเติมคือได้มาพบกับ Professor ผู้แต่ง textbook แบบตัวเป็นๆ ที่ตอนเรียนเภสัชฯที่เมืองไทยเราได้แต่เรียกชื่อ (ในสมัยนั้นเราชอบเรียกชื่อผู้แต่ง แทนชื่อ textbook เพราะเป็นชื่อที่สั้นเรียกง่าย ซึ่งเราจะรู้กันว่าแต่ละชื่อหมายถึง textbook เล่มไหน) เมื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ เราสามารถต่อยอดได้ทันที เพราะมีพื้นฐานที่ดี ที่คณะเภสัชฯ ม.มหิดล มอบให้นั่นเอง 

 

ทุกครั้งที่มีโอกาสกลับมาที่คณะเภสัชฯ ได้สักการะอนุสรณ์สถานของท่านอาจารย์ประดิษฐ์ ภาพเหตุการณ์ต่างๆในอดีตที่ได้รู้จักท่านอาจารย์ยังคงชัดเจนในความทรงจำ รู้สึกซาบซึ้งถึงที่มาของรูปหล่อโลหะที่เห็นอยู่ตรงหน้า ว่าคือปูชนียบุคคล ผู้ได้ลงมือก่อร่างสร้างคณะเภสัชฯ ม.มหิดล ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ด้วยปณิธานยิ่งใหญ่ที่หวังให้วงการเภสัชกรรมและอุตสาหกรรมยาของประเทศไทย มีการพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ ผมขอถือโอกาสนี้เชิญชวนศิษย์เภสัชมหิดลทุกท่าน ศึกษาประวัติและร่วมกันสานต่อปณิธานของท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร จากรุ่นสู่รุ่น ให้พัฒนาก้าวหน้าและมีความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป

บทความอื่นๆ จากศิษย์เก่า

อาจาริยบูชาจากลูกศิษย์                               อา...

กลอนรำลึกถึงครู รุ่นที่ 11

ข้อมูลเฉพาะรุ่น 1ปี 1 (พ.ศ.2512) เข้ามาจำนวน 150 คนอยู่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ แผนกเตรียมเภสัชศาสตร์ พอขึ้นปี 2 มีลาออกไปสอบเอนทรานซ์ใหม่ประมาณ 5 คน พอขึ้นปี 3 (พ.ศ. 2514) สมัครมาคณะเภสัชศาสตร์ พญ...

ปราโมทย์ ชลยุทธ์ รุ่นที่ 1

ย้อนกลับไปในช่วงที่นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 13 ข้ามฟากมาเรียนต่อปีที่ 3 ถึงปีที่ 5 ที่คณะเภสัชศาสตร์โดยตรง เราโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนวิชา Pharmacy Orientatio...

ภก. พรชัย ศรีศุภวินิจ เขียนในนามศิษย์รุ่น 13 รุ่นที่ 13

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา