หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอถามด้วยค่ะ ว่าถ้าทานยาแล้วกี่นาทีจึงจะทานนมได้ แล้วทานนมแล้วกี่นาทีจึงจะทานยาได้ ถ้าทานพร้อมกันจะเป็นอย่างไร ทานก่อนทานหลังมีผลหรือไม่ แล้วหากจำเป็นจะต้องทานนมจริงๆควรเว้นก่อนทานยาและหลังทานยากี่นาทีค่ะ เนื้องจากหาข้อมูลเรื่องนี้ยากมากเลย เลยอยากให้ช่วยหาคำตอบให้ค่ะ ยาที่ทานมียาแก้อักเสพ ยาคุมกำเนิด และยาพาราค่ะ และไม่ทราบว่าประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดจะลดลงมั้ยค่ะ

ถามโดย Saiparnaword เผยแพร่ตั้งแต่ 04/03/2017-08:23:08 -- 122,434 views
 

คำตอบ

ปัญหาของการรับประทานยาแล้วไม่เห็นผลการรักษาได้ดีเท่าที่ควรนั้น บางครั้งอาจมีสาเหตุมาจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาด้วยกันเอง ยากับสมุนไพรหรือ ยากับอาหาร เนื่องจากอาหารบางชนิดสามารถรบกวนการดูดซึมยาได้ ในกรณีที่อาหารไม่มีผลรบกวนการดูดซึมยาอย่างมีนัยสำคัญมักแนะนำให้รับประทานหลังอาหาร (ยาที่ผลิตออกจำหน่ายจะผ่านการศึกษาในเรื่องนี้ จึงควรรับประทานตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา) เพราะโดยทั่วไปผู้ป่วยมักจำได้ ต่างจากการรับประทานเวลาอื่นซึ่งมักจะลืม ส่วนเรื่องนมนั้นแม้เป็นอาหารแต่มีแคลเซียมในปริมาณสูง ซึ่งแคลเซียมมีผลลดการดูดซึมยาหลายชนิด โดยทั่วไปจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมนม (เว้นแต่จะมีข้อมูลทางวิชาการว่านมไม่รบกวนการดูดซึมยาชนิดที่รับประทานนั้น) โดยให้รับประทานยาก่อนดื่มนมไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หรือหลังดื่มนมแล้วไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับยาพาราเซตามอล ยาคุมกำเนิดและยาแก้อักเสบ (ซึ่งหมายถึงยาบรรเทาอาการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ nonsteroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs ที่ใช้เป็นยาแก้อักเสบและบรรเทาอาการปวด) ตามที่ถามมานั้นสามารถรับประทานร่วมกับนมหรืออาหารได้ ซึ่งแม้ว่านมหรืออาหารอาจจะทำให้การดูดซึมยาช้าลง แต่ไม่มีผลต่อปริมาณยาในกระแสเลือดจึงไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประสิทธิภาพของยา อย่างไรก็ตามกรณีที่เป็นยาแก้อักเสบซึ่งมักจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหารหากรับประทานขณะท้องว่าง ในทางปฏิบัติจึงแนะนำให้รับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที ส่วนพาราเซตามอลไม่ระคายเคืองทางเดินอาหารสามารถรับประทานในขณะท้องว่าง พร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ ส่วนยาคุมกำเนิดมักจะมีอาการข้างเคียงที่สำคัญเช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งหากรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารจะสามารถลดอาการเหล่านี้ได้ หากไม่มีปัญหาเรื่องคลื่นไส้อาเจียนส่วนใหญ่แนะนำให้รับประทานก่อนนอน และควรรับประทานเวลาเดิมทุกวัน กรณียาแก้อักเสบซึ่งคนโดยทั่วไปอาจใช้ในการเรียกยาต้านแบคทีเรีย หากเป็นยาต้านแบคทีเรียบางชนิดต้องรับประทานขณะท้องว่าง เนื่องจากอาหาร นม หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารอาจทำลายฤทธิ์ยาได้ เช่น ยากลุ่ม fluoroquinolones, tetracyclines ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกับนมหรืออาหารที่มีแคลเซียมสูง Keywords: nonsteroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs, พาราเซตามอล, ยาคุมกำเนิด, ยาแก้อักเสบ

Reference:
1. Rainsford K, Bjarnason I. NSAIDs: take with food or after fasting?. J Pharm Pharmacol. 2011;64:465-9.
2. McCabe BJ, Wolfe JJ, Frankel EH, editors. Hand Book of Food-Drug Interactions. Florida: CRC Press, 2003.
3. Boyd RA, Zegarac EA, Eldon MA. The effect of food on the bioavailability of norethindrone and ethinyl estradiol from norethindrone acetate/ethinyl estradiol tablets intended for continuous hormone replacement therapy. J Clin Pharmacol. 2003;43:52-8.

Keywords:
-





ทางเดินอาหาร อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้