Linaclotide ยาชนิดแรกที่ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาท้องผูกไร้โรคทางกาย (functional constipation) ในเด็กอายุ 6-17 ปี
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน ตุลาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 2,673 ครั้ง
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2566 USFDA ได้อนุมัติข้อบ่งใช้ใหม่ของ linaclotide (LINZESS®) สำหรับรักษาภาวะท้องผูกไร้โรคทางกาย (functional constipation) ในเด็กอายุ 6-17 ปี เพิ่มเติมจากเดิมที่ใช้สำหรับรักษาโรคลำไส้แปรปรวนชนิดท้องผูกเด่น (irritable bowel syndrome with constipation) หรือท้องผูกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ (chronic idiopathic constipation) ในผู้ใหญ่ โดย linaclotide ถือเป็นยาชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติจาก USFDA ให้ใช้ในเด็กสำหรับรักษาภาวะท้องผูกไร้โรคทางกาย[1] ทั้งนี้ตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาเด็กท้องผูกไร้โรคทางกาย พ.ศ. 2565 โดยสมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทยได้แนะนำการรักษาโดยใช้ยาระบายกลุ่ม osmotic laxatives ได้แก่ polyethylene glycol (PEG) และ lactulose หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยากลุ่มนี้ จึงจะแนะนำให้ใช้ยากลุ่ม stimulant laxatives ร่วมด้วย ซึ่งยาทั้งสองกลุ่มมีรายงานผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ อาการท้องอืด และปวดท้อง[2] แม้ว่าการใช้ linaclotide อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะท้องผูกร่วมกับช่วยลดอาการปวดท้อง เนื่องจากมีผลช่วยลดความไวในการรับความเจ็บปวดของเส้นประสาทบริเวณลำไส้[3] อย่างไรก็ตามยานี้ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย
การรับรองข้อบ่งใช้นี้เป็นผลจากการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มระยะที่ 3 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของ linaclotide สำหรับรักษาอาการท้องผูกในเด็กอายุ 6-17 ปี เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์[1] โดยผู้ป่วยจะต้องมีการขับถ่ายน้อยกว่า 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 1 อาการ ได้แก่ มีประวัติกลั้นอุจจาระ อุจจาระแข็ง-ก้อนใหญ่ ขับถ่ายยาก หรือเจ็บขณะขับถ่าย และมีอาการอย่างน้อย 2 เดือนก่อนเข้าร่วมการทดลอง โดยผู้ป่วยจะได้รับ linaclotide 72 ไมโครกรัม หรือยาหลอก วันละครั้ง ผลการศึกษาพบว่าในผู้ป่วยเด็กที่ได้รับ linaclotide ครบ 12 สัปดาห์ จะมีการขับถ่ายที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยมีค่าความแตกต่างของการรักษา (treatment difference) เท่ากับ 1.3 , (95%CI : 0.7, 1.8) สำหรับการศึกษานี้ได้ลงทะเบียนในฐานข้อมูลงานวิจัยทางคลินิกและดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยมีรายงานผลการศึกษาในเอกสารกำกับยา แต่อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์[3,4]
ขนาดยาสำหรับการรักษาท้องผูกในเด็ก แนะนำให้รับประทานครั้งละ 72 ไมโครกรัม วันละครั้ง โดยอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ ท้องเสีย ดังนั้นหากมีอาการรุนแรงควรหยุดยาและเริ่มให้สารน้ำทันที ทั้งนี้ยานี้ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากสามารถทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ (dehydration) และเสียชีวิตได้[3]
เอกสารอ้างอิง
1. FDA approves first treatment for pediatric functional constipation. U.S. FDA [internet]. 2023. [cited 2023.06.15]. Available from: https://www.fda.gov/drugs/news-events-human-drugs/fda-approves-first-treatment-pediatric-functional-constipation#:~:text= FDA%20has%20approved%20Linzess%20(linaclotide,72%20mcg%20orally%20once%20daily.
2. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาเด็กท้องผูกไร้โรคทางกาย พ.ศ.2565 (Clinical Practice Guideline for Functional Constipation). สมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทย[internet]. 2022. [cited 2023.06.15]. Available from: https://www.pthaigastro.org/ Document/jkevatb44kaj40yfbvivc2vjCPG_constipation_2022_vesion_5_final.pdf.
3. LINZESS® (linaclotide) capsules for oral use. U.S. FDA [internet]. 2023. [cited 2023.06.15]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/ 2023/202811s021lbl.pdf.
4. Linaclotide Safety and Efficacy in Pediatric Participants, 6 to 17 Years of Age, With Irritable Bowel Syndrome with Constipation (IBS-C) or Functional Constipation (FC). Clinicaltrials.gov [internet]. 2023. [cited 2023.06.16]. Available from: https://beta.clinicaltrials.gov/study/NCT02559570.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
linaclotide
constipation
children