หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Vericiguat (sGC stimulator)…สำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2564 -- อ่านแล้ว 6,792 ครั้ง
 

ไนตริกออกไซด์ (nitric oxide; NO) สร้างได้ที่เซลล์บุผนังหลอดเลือด (endothelial cells) และแพร่ไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้อหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อไนตริกออกไซด์จับกับตัวรับซึ่งเป็นเอนไซม์ คือ soluble guanylate cyclase (sGC) จะทำให้เกิดการสร้าง cyclic guanosine monophosphate (cGMP) ซึ่ง cGMP ทำให้กล้ามเนื้อเรียบต่าง ๆ คลายตัว มีความสำคัญต่อการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ หาก sGC มีฤทธิ์ลดลงจะสัมพันธ์กับการเกิด coronary microvascular dysfunction, cardiomyocyte stiffness และ interstitial fibrosis สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจในภาวะหัวใจล้มเหลว ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดค้นยาที่ออกฤทธิ์เป็น sGC stimulator เพื่อใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้มี sGC stimulator ชนิดใหม่ คือ vericiguat ออกใช้แล้วในบางประเทศเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (ยาที่เป็น sGC stimulator ชนิดแรกที่วางจำหน่าย คือ riociguat ใช้รักษา pulmonary hypertension) vericiguat ออกฤทธิ์กระตุ้น sGC โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัยไนตริกออกไซด์ และยังทำให้ sGC ไวต่อการกระตุ้นของไนตริกออกไซด์ที่สร้างขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ทำให้การสร้าง cGMP เพิ่มขึ้น (ดูรูป) ยานี้ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่มี ejection fraction น้อยกว่า 45% ที่แสดงอาการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด และการต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลวภายหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว หรือความต้องการใช้ยาขับปัสสาวะทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วยนอก ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาเม็ด ความแรง 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม ขนาดที่แนะนำเริ่มแรกคือ 2.5 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหาร ให้เพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าในทุก 2 สัปดาห์โดยประมาณ เพื่อให้ถึงขนาดยาที่ต้องการคือ 10 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับการทนต่อยาของผู้ป่วยด้วย

การศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ vericiguat ในข้อบ่งใช้ดังกล่าวข้างต้น เป็นการศึกษาแบบ randomized, parallel-group, placebo-controlled, double-blind, multi-center trial ในผู้ใหญ่ 5,050 คนที่มีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (New York Heart Association class II-IV) และมี left ventricular ejection fraction น้อยกว่า 45% หลังจากผ่านเหตุการณ์ภาวะหัวใจล้มเหลวที่แย่ลง (ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลวที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา หรือภาวะหัวใจล้มเหลวที่ต้องใช้ยาขับปัสสาวะทางหลอดเลือดดำภายใน 3 เดือนที่ผ่านมาของผู้ป่วยนอก) ให้ยา vericiguat (n=2,526) เริ่มแรกคือ 2.5 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง จากนั้นเพิ่มขนาดเป็นสองเท่าในทุก 2 สัปดาห์โดยประมาณ เพื่อให้ถึงขนาดยาเป้าหมายคือ 10 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง โดยขึ้นกับการทนต่อยาของผู้ป่วยด้วย เปรียบเทียบกับยาหลอก (n=2,524) ผลการศึกษาพบว่าที่ระยะเวลา 10.8 เดือน (ค่ากลาง) อัตราการเสียชีวิตด้วยเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือการต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลว (หากเกิดหลายเหตุการณ์คิดเพียงเหตุการณ์แรก) ในกลุ่ม vericiguat พบ 35.5% ในกลุ่มยาหลอกพบ 38.5% (hazard ratio, 0.90; 95% CI=0.82-0.98; p=0.02) แยกเป็นผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลวในกลุ่ม vericiguat มี 27.4% เทียบกับ 29.6% ในกลุ่มยาหลอก (hazard ratio, 0.90; 95% CI=0.81-1.00) และการเสียชีวิตด้วยเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่ม vericiguat มี 16.4% เทียบกับ 17.5% ในกลุ่มยาหลอก (hazard ratio, 0.93; 95% CI=0.81-1.06) ส่วนอัตราการเสียชีวิตด้วยเหตุใด ๆ หรือการต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลวในกลุ่ม vericiguat พบ 37.9% เทียบกับ 40.9% ในกลุ่มยาหลอก (hazard ratio, 0.90; 95% CI=0.83-0.98; p=0.02) ผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดของ vericiguat (≥5%) ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำและโลหิตจาง

อ้างอิงจาก:

(1) Verquvo (vericiguat) tablets. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4733497, revised: 01/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/214377s000lbl.pdf; (2) Armstrong PW, Roessig L, Patel MJ, Anstrom KJ, Butler J, Voors AA, et al. A multicenter, randomized, double-blind, placebo-controlled trial of the efficacy and safety of the oral soluble guanylate cyclase stimulator: The VICTORIA Trial. JACC Heart Fail 2018;6:96-104; (3) Armstrong PW, Pieske B, Anstrom KJ, Ezekowitz J, Hernandez AF, Butler J, et al. Vericiguat in patients with heart failure and reduced ejection fraction. N Engl J Med 2020;382:1883-93.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้