หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Antidepressants กับการเกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธันวาคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 1,906 ครั้ง
 
ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง นอกจากใช้รักษาโรคซึมเศร้ารูปแบบต่าง ๆ แล้ว ยังใช้ในการรักษาอาการปัสสาวะรดที่นอนหรือเสื้อผ้า (enuresis), อาการปวดเรื้อรัง และความผิดปกติในการรับประทาน (eating disorders) ยาต้านซึมเศร้ามีหลายกลุ่ม กลุ่มที่นำมาใช้มาก ได้แก่ serotonin reuptake inhibitors, serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors, tricyclic antidepressants และ monoamine oxidase inhibitors ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ monoamine neurotransmitter ชนิด serotonin และ noradrenaline มีผลไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เช่น ความผิดปกติในทางเดินอาหาร ความบกพร่องด้านสมรรถภาพทางเพศ อ่อนล้า ง่วง นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงการทำให้เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว (movement disorders) แม้จะพบไม่มากนัก ความผิดปกติที่เกิดขึ้นมีทั้งการเคลื่อนไหวมากเกินและน้อยเกิน เกิดทั้ง voluntary movement และ involuntary movement ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานการศึกษา (Revet et al., 2020) ที่นำข้อมูลมาจาก observational study เพื่อหาความสัมพันธ์ของการใช้ยาต้านซึมเศร้าชนิดต่าง ๆ กับความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว 9 รูปแบบ ได้แก่ akathisia, bruxism, dystonia, myoclonus, parkinsonism, restless legs syndrome, tardive dyskinesia, tics และ tremor โดยรายงานเป็นค่า Reporting Odds Ratio (ROR) และ adjusted ROR (ปรับค่าด้วย confounding factors ได้แก่ อายุ เพศ ยาที่ชักนำให้เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวได้และยาที่ใช้รักษาความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว) พบว่าจาก 14,270,446 รายงานซึ่งรวมทั้งที่มาจาก VigiBase® มี 1,027,405 (7.2%) รายงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาต้านซึมเศร้าอย่างน้อย 1 อย่าง และในจำนวนที่ใช้ยาต้านซึมเศร้านี้มี 29,253 (2.8%) รายงานที่พบความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว จากการวิเคราะห์ผลพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างการใช้ยาต้านซึมเศร้ากับการเกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวโดยรวม และเมื่อแยกประเภทพบว่ามีความสัมพันธ์สูงสุดกับความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวชนิด bruxism (ROR 10.37, 95% CI 9.62–11.17) และมีความสัมพันธ์น้อยสุดกับความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวชนิด tics (ROR 1.49, 95% CI 1.38–1.60) การศึกษานี้ผู้วิจัยสรุปว่าต้านซึมเศร้าที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา ได้แก่ mirtazapine, vortioxetine, amoxapine, phenelzine, tryptophan, fluvoxamine, citalopram, paroxetine, duloxetine, bupropion, clomipramine, escitalopram, fluoxetine, mianserin, sertraline, venlafaxine และ vilazodone ด้วยเหตุนี้ผู้ที่สั่งใช้ยารวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวังสัญญาณเตือนแต่แรกถึงผลไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย

อ้างอิงจาก:

(1) Duma SR, Fung VS. Drug-induced movement disorders. Aust Prescr 2019;42:56-61; (2) Revet A, Montastruc F, Roussin A, Raynaud JP, Lapeyre-Mestre M, Nguyen TTH. Antidepressants and movement disorders: a postmarketing study in the world pharmacovigilance database. BMC Psychiatry 2020. doi: 10.1186/s12888-020-02711-z.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้