Abametapir (metalloproteinase inhibitor)...ยาชนิดใหม่สำหรับกำจัดเหา
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน สิงหาคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 2,489 ครั้ง
เหา (Pediculus humanus capitis หรือ head louse) เป็นแมลงขนาดเล็กในกลุ่มปรสิต ยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร มีวงจรชีวิตประมาณ 30 วัน โรคเหา (pediculosis capitis) พบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 4-13 ปี มียาที่ใช้ภายนอกหลายชนิดสำหรับรักษาโรคเหา เช่น permethrin 1% lotion, malathion 0.5% lotion, lindane 1% shampoo หรือ lotion, ivermectin 0.5% lotion, spinosad 0.9% suspension, benzyl alcohol 5% lotion ตลอดจนยาพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังรักษาโดยใช้หวีสางออก ยาที่ใช้ภายนอกส่วนใหญ่ไม่มีฤทธิ์กำจัดไข่เหา (ยกเว้น spinosad 0.9% suspension) หรือมีฤทธิ์อยู่บ้าง จึงต้องให้ซ้ำในช่วง 7-10 วันหลังจากใช้ครั้งแรกเพื่อกำจัดตัวเหาที่ฟักใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มียากำจัดเหาชนิดใหม่ออกวางจำหน่ายในบางประเทศ คือ abametapir (5,5’-dimethyl 2,2’-bipyridinyl) มีฤทธิ์กำจัดตัวเหาและไข่เหา เป็นยากำจัดเหาชนิดแรกที่ออกฤทธิ์เป็น metalloproteinase inhibitor ซึ่ง metalloproteinases เป็นกลุ่มเอนไซม์ที่มีบทบาทใน physiological processes ของปรสิตชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเหา โดยมีความสำคัญต่อพัฒนาการของไข่เหาและการดำรงชีพของตัวเหา ยานี้ผลิตออกจำหน่ายในรูป lotion ความแรง 0.74% โดยน้ำหนัก มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคเหาในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
Abametapir 0.74% lotion ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้น เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกมาสนับสนุน 2 การศึกษา ซึ่งเป็นแบบ multi-center, randomized, double-blind, vehicle-controlled trial ในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปซึ่งเป็นโรคเหา รวม 704 คน ทั้งสองการศึกษาแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มที่มีจำนวนใกล้เคียงกัน เพื่อทา abametapir lotion 1 ครั้ง ทิ้งไว้เป็นเวลา 10 นาที หรือทากระสายยา (vehicle) ในการประเมินผลคิดจากกลุ่ม “index subjects” ซึ่งเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดของแต่ละครอบครัว (อายุ 6 เดือน ถึง 49 ปี) จำนวนรวม 216 คน ส่วนใหญ่เป็นชาว Caucasian ประเมินผลวันที่ 1, 7 และ 14 หากตรวจพบตัวเหาที่มีชีวิตจะถือว่าการรักษาล้มเหลว ผลการศึกษาพบว่าจำนวน “index subjects” ที่ปลอดจากตัวเหาที่มีชีวิตตลอดช่วงที่ประเมินในกลุ่มที่ทา abametapir lotion เทียบกับกลุ่มที่ทากระสายยาในการศึกษาที่ 1 (n=108) เท่ากับ 81.1% เทียบกับ 50.9% และในการศึกษาที่ 2 (n=108) เท่ากับ 81.8% เทียบกับ 47.2% ผลไม่พึงประสงค์ของยาที่พบบ่อย (≥ 1%) คือ ผิวหนังแดง ผื่นขึ้น แสบร้อนผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ อาการคัน อาการอาเจียน ระคายเคืองตา และสีผมเปลี่ยนไป
อ้างอิงจาก:
(1) Xeglyze (abametapir) lotion, for topical use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4645747, revised: 06/2020. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/206966lbl.pdf; (2) Guenther LCC. Pediculosis and pthiriasis (lice infestation) medication, updated: Aug 16, 2019. https://emedicine.medscape.com/article/225013-medication#2; (3) Gunning K, Kiraly B, Pippitt K. Lice and scabies: treatment update. Am Fam Physician 2019;99:635-42.