Rabeprazole มีผลเทียบเท่ากับ omeprazole ในการรักษาerosive gastro-oesphageal reflux disease
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน ตุลาคม ปี 2548 -- อ่านแล้ว 47,846 ครั้ง
Gastro-oesphageal reflux disease (GORD) เป็นอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร และเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ทั้งยังเกิดได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เป้าหมายของการรักษาโรคนี้ คือ บรรเทาอาการและรักษาแผลในทางเดินอาหาร และป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค ซึ่งยากลุ่ม proton pump inhibitors เป็นยาที่พบว่าให้ผลการรักษาดีที่สุดในขณะนี้
ในการศึกษาผลของยาในระยะเฉียบพลันแบบ double-blind, double-dummy fashion ในผู้ป่วยหลอดอาหารอักเสบและเยื่อเมือกถูกทำลาย เนื่องจากการไหลย้อนกลับของกรดที่มีความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับ I-III ตาม Savary-Miller Classification เปรียบเทียบประสิทธิผลของ rabeprazole 20 mg กับ omeprazole 20 mg เมื่อให้รับประทานยาวันละครั้งเป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ พบว่า ใน 4 สัปดาห์แรกของการรักษาด้วย rabeprazole และ omeprazole แผลในทางเดินอาหารหายได้สมบูรณ์ถึง 91.0 และ 89.9% ตามลำดับ และเมื่อสิ้นสุดการรักษา rabeprazole และ omeprazole ช่วยทำให้แผลในทางเดินอาหารหายได้สมบูรณ์ถึง 97.9 และ 97.5% ตามลำดับ แต่ rabeprazole บรรเทาอาการ heartburn ได้เร็วกว่า omeprazole
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลของยาในระยะยาว แบบ open-label ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลันข้างต้นแล้วมีอาการดีขึ้น โดยให้ผู้ป่วยรับประทาน rabeprazole ขนาดต่ำ คือ 10 mg วันละครั้งเป็นเวลา 48 สัปดาห์ ขนาดยาอาจเพิ่มเป็น 10 mg วันละ 2 ครั้งได้ในผู้ป่วยที่อาจมีการกลับเป็นซ้ำของโรค พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับ rabeprazole เป็นเวลานานๆ จะมีโอกาสกลับเป็นซ้ำของโรคนี้ 15.2% โดยพบว่า ถ้าประเมินจากการส่องกล้องการกลับเป็นซ้ำของโรคจะเกิดหลังจากได้รับการรักษาไปแล้วนาน 11.1 เดือน แต่ถ้าประเมินจากอาการแสดงของโรคทางคลินิก การกลับเป็นซ้ำของโรคจะเกิดหลังจากรับการรักษาไปแล้วนาน 7.7 เดือน อาการข้างเคียงในช่วง 8 สัปดาห์แรกของการรักษาด้วยยา พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับ omeprazole จะมีอาการปวดศีรษะได้มากกว่า rabeprazole ส่วนอาการข้างเคียงที่เกิดเมื่อใช้ยาในระยะยาวคือ เป็นไข้ ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ อาหารไม่ย่อย เป็นต้น แต่เป็นอาการที่พบได้น้อย