โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis; AD) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย เป็นๆ หายๆ พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผิวหนังแห้ง แดง อักเสบ และมีอาการคัน ในทารกและเด็กเล็กมักพบผื่นที่หน้า ซอกคอ ผิวหนังด้านนอกของแขนขา (extensor skin) ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่มักพบบริเวณข้อพับ (flexural fold) ของแขนขา พยาธิกำเนิดของ AD นั้นซับซ้อน มีตัวกระตุ้นมีหลายอย่าง ทำให้มีอาการและอาการแสดงแตกต่างกัน การรักษา AD มีทั้งการไม่ใช้ยาและการใช้ยา การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การสวมเสื้อผ้าเบา สบาย ไม่ระคายผิว การทาครีมที่ทำให้ผิวชุ่มชื้น การหลีกเลี่ยงไม่สัมผ้สสิ่งระคายผิว การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีมลพิษ การให้ผู้ป่วยมีความรู้และความใจเกี่ยวกับโรค การรักษาโดยไม่ใช้ยายังรวมถึงการรักษาด้านจิต เช่น การสะกดจิต ส่วนกรณีที่รักษาโดยการใช้ยานั้น ส่วนใหญ่เป็นยาที่ใช้ภายนอก เช่น topical corticosteroids, topical calcineurin inhibitors ซึ่งยากลุ่มหลังเป็น immunosuppressants ตัวอย่างเช่น tacrolimus, pimecrolimus ออกฤทธิ์ยับยั้งการปลุกฤทธิ์ T cells และ mast cells จึงลดการสร้าง proinflammatory cytokines และสารสื่อที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการอักเสบใน AD แต่ถ้าโรคมีอาการรุนแรงจะใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทั่วร่างกาย
ผิวหนังอักเสบใน AD มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ phosphodiesterase (PDE) เอนไซม์นี้ย่อย phosphodiester bond จึงเกิดการย่อยทำลาย cyclic adenosine monophosphate (cAMP) เอนไซม์นี้แบ่งเป็นชนิดย่อย (subtypes) อีกหลายชนิด ชนิดที่มีบทบาทสำคัญในโรค AD ได้แก่ PDE4 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีอยู่ใน inflammatory cells เช่น macrophages, T cells, monocytes, neutrophils เกี่ยวข้องกับการควบคุมการสร้าง inflammatory (proinflammatory) cytokines หลายอย่าง และ prostaglandin E2 ใน AD จะมีการทำงานของ PDE4 มากเกินทำให้ cAMP ลดลง ซึ่ง cAMP จะลดการสร้าง inflammatory cytokines ที่ผ่านทาง NF-κB, NFAT และโปรตีนอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมี PDE4 มากเกินจึงมีการสร้าง inflammatory cytokines มากขึ้น เช่น TNF-α, IL-1β, IL-2, IL-4, IL-6, IL-23, IL-31, IFN-ϒ และใน AD ยังลดการสร้าง anti-inflammatory cytokines (ดูรูป) จึงมีการคิดค้นหายาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง PDE4 เพื่อนำมาใช้รักษาโรคที่มีการอักเสบและเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันซึ่งรวมถึง AD ปัจจุบันมียาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง PDE4 และใช้ในการรักษา AD ออกวางจำหน่ายแล้ว ได้แก่ crisaborole เป็นยาที่ใช้ภายนอก ส่วนยาอื่นที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้รักษา AD เช่น cipamfylline, E6005 (ทั้งสองชนิดนี้ใช้ภายนอก), apremilast (ยานี้วางจำหน่ายแล้วในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน เป็นยาชนิดรับประทาน ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาเพื่อขยายข้อบ่งใช้ให้ครอบคลุมถึง AD) ยาเหล่านี้ทำให้ cAMP ภายในเซลล์เพิ่มขึ้น เกิดการปลุกฤทธิ์ PKA (หรือ cAMP-dependent protein kinase) ซึ่ง PKA จะลดการทำหน้าที่ของ NF-κB, NFAT เป็นผลให้การสร้าง inflammatory cytokines ลดลง
อ้างอิงจาก:
(1) Heratizadeh A, Werfel T. Anti-inflammatory therapies in atopic dermatitis. Allergy 2016;71:1666-75; (2) Zane LT, Chanda S, Jarnagin K, Nelson DB, Spelman L, Gold LS. Crisaborole and its potential role in treating atopic dermatitis: overview of early clinical studies. Immunotherapy 2016;8:853-66; (3) Silverberg JI, Nelson DB, Yosipovitch G. Addressing treatment challenges in atopic dermatitis with novel topical therapies. J Dermatolog Treat 2016;27:568-76.