ปัจจุบันยาแก้ปวดมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เนื่องจากอาการปวดหลายชนิดมีสาเหตุมาจากการทำงานหนัก ความเครียด หรืออุบัติเหตุจากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้หลายคนต้องหันมาพึ่งยาแก้ปวด โดยเฉพาะยากลุ่ม NSAIDs (เอ็น-เสด) อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาแก้ปวด เช่น กลัวว่ายาจะกัดกระเพาะ หรือทำให้เกิดอันตรายรุนแรง บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารของยาแก้ปวดกลุ่มนี้กัน
ยาแก้ปวดตัวแรง ๆ ที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากนั้นมีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า ยาบรรเทาการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs) หรือ ยากลุ่ม NSAIDs (เอ็น-เสด) เป็นยาที่สามารถใช้ลดปวดและแก้อักเสบได้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดปวดได้ดีกว่ายาพาราเซตามอลที่ใช้กันทั่วไป
เนื่องจาก NSAIDs ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและความปวด เรียกว่า ค็อกซ์ (COX ชื่อเต็ม คือ cyclooxygenase) ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ COX-1 และ COX-2 อีกทั้ง NSAIDs บางชนิดสามารถยับยั้ง COX-1 ได้มากกว่า COX-2 (รูปที่ 1) ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะรบกวนการสร้างเยื่อเมือกปกป้องทางเดินอาหารจากการทำลายของกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้นยาเหล่านี้จึงอาจเสี่ยงทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ง่าย ขณะที่ ยาที่ยับยั้ง COX-2 ได้มากกว่า มีแนวโน้มที่จะรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือดและการหดตัวของหลอดเลือด จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
รูปที่ 1 ความสามารถของยากลุ่ม NSAIDs ในการยับยั้งเอนไซม์ COX-1 และ COX-2[1-4]
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าเอนไซม์ COX-1 มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการสร้างเยื่อเมือกปกป้องทางเดินอาหาร ดังนั้น NSAIDs ทุกชนิดมีโอกาสที่จะทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ยาที่มีความสามารถในการยับยั้ง COX-1 ได้สูง (รูปที่ 1) เช่น aspirin, indomethacin, ibuprofen, naproxen, ketoprofen, sulindac, piroxicam, tenoxicam, mefenamic acid, nabumetone และ flurbiprofen อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ง่ายกว่า[6]
ส่วนยาที่มีความจำเพาะเจาะจงในการยับยั้งเอนไซม์ COX-2 มากขึ้น (รูปที่ 1) ได้แก่ celecoxib, etoricoxib และ parecoxib จะช่วยลดผลข้างเคียงนี้ แต่ในผู้ป่วยบางคนที่มีความเสี่ยงสูงมาก (จะกล่าวต่อไป) อาจเกิดแผลในทางเดินอาหารจากยาเหล่านี้ได้เช่นกัน
อาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารจากยากลุ่ม NSAIDs อาจแบ่งออกเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไปจนถึงอาการรุนแรง ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ด้วยตนเอง ดังรูปที่ 2
รูปที่ 2 อาการข้างเคียงต่อทางเดินอาหารที่อาจเกิดจาก NSAIDs
(ภาพการ์ตูนจาก: pngitem.com และ livplusthailand.com)
จากรูปจะเห็นได้ว่า หากบางคนอาการไม่รุนแรงอาจรอให้อาการหายเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม แต่หากผู้ป่วยมีอาการถึงขั้นมีเลือดออกในทางเดินอาหาร พบอุจจาระมีเลือดปน อาเจียนเป็นเลือดสด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ซีด เพลีย เป็นลม อาการเหล่านี้ล้วนเป็นภาวะของการเสียเลือดทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นภาวะอันตรายที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียเลือดมากขึ้นและถึงแก่ชีวิตได้
ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารจาก NSAIDs แสดงในรูปที่ 3 ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งที่จะใช้ยากลุ่มนี้ เพื่อให้ได้รับยาและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวขณะใช้ยาอย่างเหมาะสม
รูปที่ 3 ปัจจัยส่งเสริมการเกิดผลเสียของยากลุ่ม NSAIDs ต่อทางเดินอาหาร
(ภาพการ์ตูนจาก: pixabay.com, vecteezy.com และ creazilla.com)
ในผู้ที่มีโอกาสเกิดโรคกระเพาะหรือแผลในทางเดินอาหาร และจำเป็นที่จะต้องใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs แพทย์หรือเภสัชกรอาจพิจารณาจ่ายยาที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อการยับยั้ง COX-2[10-11] ได้แก่ celecoxib, etoricoxib และ parecoxib และพิจารณาให้ยายับยั้งการหลั่งกรดร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวของผู้ป่วยแต่ละคน นอกจากนี้ NSAIDs ยังสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจ หรือไตได้ โดยเฉพาะหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงควรใช้ยากลุ่มนี้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
จากข้อมูลที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs จะมีประสิทธิภาพดีในการลดปวด แต่ก็มีข้อที่ควรระวังเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหารและด้านอื่น ๆ ดังนั้นควรปฏิบัติตามข้อแนะนำเบื้องต้นดังที่ได้กล่าวนี้ ซึ่งจะทำให้ใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลเสียน้อยที่สุด