หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไรขน…ต้นเหตุของเปลือกตาอักเสบ (demodex blepharitis)

โดย นศภ.ณัฐชยา อิงพงษ์พันธ์ ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.มัลลิกา ชมนาวัง เผยแพร่ตั้งแต่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2566 -- 4,926 views
 

ตัวไรขน (demodex) เป็นปรสิตขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า[1] ต้องอาศัยมนุษย์ในการเจริญเติบโต โดยอาศัยอยู่บนใบหน้าบริเวณรูขุมขนโคนขนตาและต่อมไขมันที่เปลือกตา แม้ว่าปกติเเล้วไรขนจะอยู่บนร่างกายมนุษย์แบบไม่ก่อโรค แต่หากมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ไรขนอาจเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการคัน ระคายเคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา ตาแดง และพบเศษรังแคทรงกระบอกที่โคนขนตา (cylindrical dandruff)[2],[3] ซึ่งอาการมักคล้ายโรคทางตาอื่น ๆ เช่น โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิเเพ้ พบว่าความชุกในการพบไรขนในผู้ที่มีเปลือกตาอักเสบเรื้อรังจะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น เเต่ไม่สัมพันธ์กับเพศ[1] โดยผู้ที่มีอาการเปลือกตาอักเสบประมาณ 45% มีสาเหตุมาจากไรขน และ 84% พบในผู้ที่อายุตั้งเเต่ 60 ปีขึ้นไป[4]

กลไกการก่อโรคเยื่อบุตาอักเสบของไรขน[4]

ไรขนทำให้เกิดภาวะเปลือกตาอักเสบจากหลายกลไก ได้แก่

  1. การกินเซลล์เยื่อบุผิวของรูขุมขน ทำให้รูขุมขนขยาย เส้นขนตาไปในทิศทางผิดปกติ และเล็บเท้าไรขนยังทำให้เกิดรอยถลอกเล็ก ๆ บริเวณโคนขนตา กระตุ้นการสร้างเยื่อบุผิวเเละเคราตินจำนวนมากขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดเป็นเศษรังเเคทรงกระบอกที่โคนขนตา รวมทั้งยังมีผลปิดรูเปิดของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ทำให้ผิวดวงตาไม่มีชั้นไขมันมาเคลือบ น้ำตาจึงระเหยได้ง่าย เกิดการระคายเคืองตา และไรขนยังสามารถขุดตัวลงไปอยู่ภายในต่อม ทำให้เซลล์ทางระบบภูมิคุ้มกันมารวมตัวที่ต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาจำนวนมาก พบว่าการฝังตัวของไรขนในต่อมไขมันนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดตากุ้งยิงชนิดไม่อักเสบ (chalazia) ที่เป็นซ้ำบ่อย ๆ
  2. ไรขนสามารถนำพาแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหน้ามนุษย์เข้าสู่รูขุมขนโคนขนตาและต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ทำให้เปลือกตาอักเสบได้ นอกจากนี้ยังพบว่าบนตัวไรขนมีแบคทีเรียที่มีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันและการอักเสบบริเวณตาได้เช่นกัน
  3. เศษซากและของเสียจากไรขนสามารถกระตุ้นการอักเสบผ่านกระบวนการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโดยตรง ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาทั้งแบบฉับพลันและแบบที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังได้

ปัจจัยเสี่ยงของเปลือกตาอักเสบจากไรขน[5]

การดูแลรักษาความสะอาดเปลือกตาที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดความไม่สะอาดที่เปลือกตา ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการใช้สารสเตียรอยด์ชนิดทา รับประทานหรือฉีด รวมทั้งสารกดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ หรือจากโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเอชไอวี ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเปลือกตาอักเสบจากไรขน

การวินิจฉัยโรคเปลือกตาอักเสบ[4]

การยืนยันสาเหตุจะต้องซักประวัติร่วมกับการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะของเปลือกตาโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเกณฑ์ที่เป็นไปได้สำหรับการวินิจฉัยเปลือกตาอักเสบจากไรขน มีดังต่อไปนี้

  1. มีอาการเปลือกตาอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ หรือเยื่อบุตาและเปลือกตาอักเสบ หรือเป็นตากุ้งยิงชนิดไม่อักเสบบ่อยในผู้ป่วยที่อายุน้อยที่ไม่ตอบสนองการรักษาแบบเดิม หรือเมื่อมีอาการขนตาหลุดร่วง (madarosis) หรือโรคขนตาเก (trichiasis) บ่อย ๆ
  2. การตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ตรวจตาชนิดลำแสงแคบ (slit-lamp) พบรังแคทรงกระบอกที่โคนขนตา
  3. การยืนยันด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อนับไข่ และหาตัวอ่อน ตัวเต็มวัย

การรักษาเปลือกตาอักเสบจากไรขน

ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการรักษาเปลือกตาอักเสบจากไรขนที่ชัดเจน และยังไม่มียาใดที่สามารถกำจัดไรขนได้ทั้งหมด เเต่มีคำเเนะนำจาก American Academy of Ophthalmology เมื่อปี 2018 สำหรับการรักษาเปลือกตาอักเสบจากไรขน เนื่องจากพบว่า tea tree oil (TTO) ซึ่งมีสารสำคัญ คือ terpinen-4-ol (T4O) มีฤทธิ์ในการฆ่าไรขน ทำให้จำนวนไรขนลดลง และยังสามารถบรรเทาอาการอักเสบบริเวณขอบเปลือกตา เยื่อบุตา กระจกตาด้วย โดยแนะนำให้ใช้ 50% TTO scrub ทาที่เปลือกตาสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ร่วมกับ TTO shampoo scrub หรือ 5% TTO ointment ทาที่เปลือกตาวันละ 2 ครั้งทุกวัน ใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์[4],[6],[7] สำหรับผู้ที่มีผิวเเพ้ง่าย อาจเกิดผิวระคายเคืองต่อ TTO ได้ มีวิธีป้องกัน คือ เจือจาง TTO กับ mineral oil หรือใช้น้ำเกลือ (saline) ล้างหลังจากที่ทา 50% TTO เสร็จ[7] นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการใช้ mercury oxide 1% ointment, pilocarpine gel, sulfur ointment, camphorated oil ทาที่โคนขนตาก่อนนอนเพื่อดักจับไรขนที่ออกจากรูขุมขนที่จะเคลื่อนย้ายไปรูขุมขนอื่น[4] โดยผลิตภัณฑ์ที่มีในประเทศไทย[8],[9] แสดงในตารางที่ 1 และมีรายงานว่าสามารถรักษาโดยรับประทานยา ivermectin ในการกำจัดไรขนสำหรับผู้ที่ใช้วิธีอื่นเเล้วยังไม่ดีขึ้น[7] นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น tetracycline เพื่อฆ่าเชื้อเเบคทีเรียที่อยู่บนตัวไรขนร่วมด้วย[4]

ตารางที่ 1 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับรักษาเปลือกตาอักเสบจากไรขนที่มีในประเทศไทย

ชื่อผลิตภัณฑ์

ตัวยาสำคัญ

วิธีใช้

OCuSOFT Lid Scrub Swabstix[9]

50% TTO, sea buckthorn oil, caprylic acid

เช็ดขอบเปลือกตาสัปดาห์ละครั้ง (ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ หรือทำในคลินิก เนื่องจากมีความเข้มข้นสูง อาจทำให้เคืองตาได้)

Oust Demodex Eyelid Cleanser[9]

TTO

เช็ดขอบเปลือกตาที่บ้านทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง และเช็ดทำความสะอากออกด้วยน้ำสะอาด

Cliradex[10]

T4O

เช็ดขอบเปลือกตาทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ไม่ต้องล้างออก

TTO=tea tree oil, T4O=terpinen-4-ol

สรุป

อาการเปลือกตาอักเสบเรื้อรังที่มีสาเหตุจากไรขนเป็นโรคที่ไม่ได้พบบ่อย แต่เมื่อเป็นแล้วมักรบกวนชีวิตประจำวัน รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ หรืออาจรบกวนการมองเห็นได้ การรักษาให้หายจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาใดที่กำจัดไรขนได้ทั้งหมด ดังนั้นแล้วหากท่านใดที่มีอาการเปลือกตาอักเสบเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อยาทาลดอักเสบภายนอกเฉพาะที่ อาการเปลือกตาอักเสบนั้นอาจเกิดจากตัวไรขน จึงแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อประเมินการรักษาต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Kemal M, Sümer Z, Toker MI, Erdoğan H, Topalkara A, Akbulut M. The Prevalence of Demodex folliculorum in Blepharitis Patients and the Normal Population. Ophthalmic Epidemiol. 2005; 12:287-90.
  2. Dell LO, Sandri E. Demodex Screening, Prevalence, and Next Steps. Cataract & Refractive Surgery Today. [Internet]. [cited 2022 Dec 22]. Available from: https://crstoday.com/articles/ demodex-screening-prevalence-and-next-steps/demodex-screening-prevalence-and-next-steps-2.
  3. Akkucuk S, Kaya OM, Aslan L, Ozdemir T, Uslu U. Prevalence of Demodex Folliculorum and Demodex Brevis in Patients with Blepharitis and Chalazion. [Internet]. [cited 2022 Dec 22]. Available from: https://assets.researchsquare.com/files/rs-241572/v1/cdff1ec4-4d44-45fe-b356-bbdff026ad0c.pdf?c=1637245472.
  4. Liu J, Sheha H, Tseng SC. Pathogenic role of Demodex mites in blepharitis. Curr Opin Allergy Clin Immunol. 2010; 10(5):505-510.
  5. Bitton E, Jones LW. Demodex infestation of the Eyelashes. [Internet]. [cited 2022 Dec 22]. Available from: https://www.researchgate.net/profile/Etty-Bitton/publication/299092440_ Demodex_infestation_of_the_lashes/links/56f1a32408ae1cb29a3d1670/Demodex-infestation-of-the-lashes.pdf?origin=publication_detail.
  6. Amescua G, Akpek EK, Farid M, Ferrer FJG, Lin A, Rhee MK. Blepharitis Preferred Practice Pattern. Ophthalmology. 2019; 126(1):56-93.
  7. Unmet Needs in the Management of Demodex Blepharitis. [Internet]. [cited 2022 Dec 27]. Available from: https://www.ajmc.com/view/unmet-needs-in-the-management-of-demodex-blepharitis.
  8. Systematic Approach to Managing Eyelid Hygiene. [Internet]. [cited 2022 Dec 22]. Available from: https://simovision.com/assets/Uploads/Brochure-Ocusoft-Oust-Demodex-EN.pdf.
  9. Cliradex®. [Internet]. [cited 2022 Dec 22]. Available from: https://cliradex.com/wp-content/uploads/2015/06/Cliradex-patient-brochure.pdf.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ไรขน demodex เปลือกตาอักเสบ blepharitis
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้