หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รู้จักวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (pneumococcal vaccine)

โดย นศภ.ธนากร บัวชื่น และ นศภ.วราลี เจษฎาภูริ ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 2 กันยายน พ.ศ.2564 -- 25,568 views
 

รู้จักโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส

โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae ซึ่งติดต่อกันผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำลาย เสมหะ ละอองจากการไอหรือจาม เชื้อนี้ก่อโรคได้ในหลายระบบอวัยวะของร่างกาย เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปถือเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ

ความรุนแรงของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส

การติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae สามารถก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ ปอด หูชั้นกลาง และโพรงไซนัส ซึ่งเรียกว่าโรคนิวโมคอคคัสชนิดไม่รุกราน (non-invasive pneumococcal disease) นอกจากนี้ยังสามารถก่อโรคในอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น ในกระแสเลือดและในเยื่อหุ้มสมอง หรือที่เรียกว่าโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกราน (invasive pneumococcal disease; IPD)1 และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและใส่ท่อช่วยหายใจหรือเสียชีวิต แม้ว่าโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสจะสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ในปัจจุบันพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัสมีการดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ2

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (pneumococcal vaccine) คือ วัคซีนที่ผลิตมาจากส่วนประกอบของเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อและสามารถป้องกันการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อที่อาจทำให้เสียชีวิตได้3 ข้อมูลจากการศึกษาในช่วง พ.ศ. 2555-2558 พบว่าสายพันธุ์ของเชื้อนิวโมคอคคัสที่พบได้บ่อยในประเทศไทย 3 อันดับแรก คือ สายพันธุ์ 6B, 14 และ 19A และทั้ง 3 สายพันธุ์มีการดื้อต่อยาปฏิชีวนะ4 การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ครอบคลุมสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยและดื้อต่อยาปฏิชีวนะจึงช่วยป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเกิดอาการรุนแรงที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

ชนิดของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส

ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส 2 ชนิด ได้แก่1

  1. วัคซีนชนิด 23 สายพันธุ์ (pneumococcal polysaccharide vaccine; PPSV23; Pneumovax23®) เป็นวัคซีนที่ได้จากโครงสร้างส่วนพอลิแซคคาไรด์ของเชื้อนิวโมคอคคัส 23 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรครุนแรง ครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคนิวโมคอคคัสชนิดรุกรานได้ 86.9-87.3% และครอบคลุมเชื้อสายพันธุ์ 6B, 14 และ 19A แต่วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ยาวนานตลอดชีวิต อีกทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีในเด็กอายุน้อย จึงไม่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดไม่รุกรานในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีได้2 ข้อมูลจากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน PPSV23 ในประเทศญี่ปุ่นที่ทำการศึกษาในผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป พบว่าวัคซีน PPSV23 ป้องกันการเกิดโรคนิวโมคอคคัสชนิดรุกรานได้ 42.2% และป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสสายพันธุ์ 19A ซึ่งดื้อยาปฏิชีวนะได้เฉลี่ย 70.3%5 เช่นเดียวกับข้อมูลจากการศึกษาอื่นๆ ที่พบว่าวัคซีน PPSV23 สามารถลดการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดไม่รุกรานได้เฉลี่ย 46% และลดอัตราการเสียชีวิตจากปอดอักเสบได้ 33%6
  2. วัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ (pneumococcal conjugate vaccine; PCV13; Prevnar13®) เป็นวัคซีนที่ได้จากโครงสร้างส่วนพอลิแซคคาไรด์ของเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ ซึ่งถูกนำไปเชื่อมกับโปรตีนพาหะเพื่อช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ถึงแม้ว่าจำนวนสายพันธุ์ของเชื้อจะน้อยกว่าวัคซีนชนิดแรกแต่ยังคง ครอบคลุมสายพันธุ์ 6B, 14 และ 19A เมื่อได้รับวัคซีนชนิดนี้หลายครั้งจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ยาวนานตลอดชีวิตและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี นอกจากนั้นวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจและช่วยลดจำนวนเชื้อลง จึงลดโอกาสการเป็นพาหะของเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี2 ข้อมูลจากการศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ทำการศึกษาในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไปพบว่าวัคซีน PCV13 ป้องกันการเกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสสายพันธ์ุที่มีอยู่ในวัคซีน (community-acquired pneumonia infection with vaccine-type strain) ได้เฉลี่ย 45.6% ป้องกันการเกิดโรคนิวโมคอคคัสชนิดไม่รุกรานได้ 45% และป้องกันการเกิดโรคนิวโมคอคคัสชนิดรุกรานได้ 75%7 สอดคล้องกับการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำการศึกษาในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไปที่พบว่าวัคซีน PCV13 ป้องกันการเข้าโรงพยาบาลจากโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส (hospitalization for community-acquired pneumonia) ได้ 71.2%8

ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส

ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส 2 ชนิดนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่แนะนำให้ฉีดแตกต่างกัน โดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำว่าวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) เป็นวัคซีนที่อาจให้เสริมในเด็กอายุ 2-15 เดือน9 สำหรับสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) หรือชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) ในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีอายุ 2-64 ปีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เบาหวาน หัวใจวายหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิิดปกติ ผู้ที่ตัดม้ามหรือมีการทำงานของม้ามผิดปกติ ตับแข็ง ไตวายเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ) รวมทั้งผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีสภาวะอื่นๆ (น้ำไขสันหลังรั่ว ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน) ทั้งนี้ระยะเวลาและจำนวนครั้งของการได้รับวัคซีนขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์10

อาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ภายหลังจากได้รับวัคซีนทั้งสองชนิด คือ อาการปวดและแดงในบริเวณที่ฉีด ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน10

บทสรุป

โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กและผู้สูงอายุต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิต จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่ PCV13 และ PPSV23 โดยในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี แนะนำให้ฉีด PCV13 ขณะที่ผู้ใหญ่ที่อายุ 2-64 ปีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและผู้ใหญ่ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีด PCV13 หรือ PPSV23 เพื่อป้องกันการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อที่อาจทำให้เสียชีวิตได้

เอกสารอ้างอิง

  1. CDC. Pneumococcal disease [Internet]. 2021 [cited 2021 May 20]. Available from: https://www.cdc.gov/pneumococcal/about/index.html
  2. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, ชนเมธ เตชะแสนศิริ, วีระชัย วัฒนวีรเดช, อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์, ฤดีวิไล สามโกเศศ. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562. กรุงเทพฯ: บริษัท เวิร์ค พริ้นติ้ง จำกัด; 2562.
  3. CDC. Pneumococcal vaccination [Internet]. 2021 [cited 2021 May 20]. Available from: https://www.cdc.gov/pneumococcal/vaccination.html
  4. Phongsamart W, Srifeungfung S, Chatsuwan T, Nunthapisud P, Treerauthaweeraphong V, Rungnobhakhun P, et al. Changing trends in serotype distribution and antimicrobial susceptibility of Streptococcus pneumoniae causing invasive diseases in Central Thailand, 2009–20. Hum Vaccin Immunother. 2014; 10:1866–73.
  5. Shimbashi R, Suzuki M, Chang B, Watanabe H, Tanabe Y, Kuronuma K, et al. Effectiveness of 23-Valent Pneumococcal Polysaccharide Vaccine against Invasive Pneumococcal Disease in Adults, Japan, 2013–2017. Emerg Infect Dis. 2020; 26(10):2378-86.
  6. Diao WQ, Shen N, Yu PX, Liu BB, He B. Efficacy of 23-valent pneumococcal polysaccharide vaccine in preventing community-acquired pneumonia among immunocompetent adults: A systematic review and meta-analysis of randomized trials. Vaccine. 2016; 34(13):1496-503.
  7. Bonten MJ, Huijts SM, Bolken Baas M, Webber C, Patterson S, Gault S, et al. Polysaccharide conjugate vaccine against pneumococcal pneumonia in adults. N Engl J Med. 2015; 372(12):1114-25.
  8. McLaughlin JM, Jiang Q, Isturiz RE, Sings HL, David L, Gessner BD, et al. Effectiveness of 13-Valent Pneumococcal Conjugate Vaccine Against Hospitalization for Community-Acquired Pneumonia in Older US Adults: A Test-Negative Design. Clin Infect Dis. 2018; 67(10):1498-506.
  9. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย 2564 [Internet]. 2021 [cited 2021 May 20]. Available from: https://www.pidst.or.th/A998.html
  10. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 [Internet]. 2018 [cited 2021 May 20]. Available from: https://www.idthai.org/Contents/Views/?d=ZTue!17!4!!390!BiuJHPad


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
วัคซีน โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส PCV13 PPSV23
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้