หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บิสฟอสโฟเนตใช้อย่างไรให้เกิดผล

โดย นศภ. จุฑารัตน์ วัชรสุวรรณเสรี เผยแพร่ตั้งแต่ 26 กันยายน พ.ศ.2557 -- 42,106 views
 

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทยทั้งเพศหญิงและเพศชาย มักพบในผู้สูงอายุ โดยสาเหตุสำคัญของโรค คือ การทำงานของฮอร์โมนที่ลดลง ส่วนสาเหตุอื่นๆของโรคกระดูกพรุน เช่น การดื่มกาแฟ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ ขาดการออกกกำลังกาย เป็นต้น1

บิสฟอสโฟเนต (bisphosphonates) เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ได้แก่ โรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจําเดือน โรคกระดูกพรุนในชายวัยสูงอายุ โรคกระดูกพรุนที่เกิดจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) มะเร็งที่กระจายไปที่กระดูก ภาวะแคลเซียมสูงโดยเฉพาะที่เกิดจากมะเร็ง และโรคพาเจท (Paget's disease) ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีหลายตัว เช่น อเลนโดรเนต (alendronate) ริสสิโดรเนต (risedronate) ไอแบนโดรเนต (ibandronate) ซึ่งเป็นยาในรูปแบบรับประทาน และโซลิโดรเนต (zoledronate) เป็นยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ2

ยาบิสฟอสโฟเนตเป็นยาที่ต้องรับประทานให้ถูกวิธีอย่างเคร่งครัด เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการรักษา เพราะการรับประทานยาบิสฟอสโฟเนตมีการดูดซึมในทางเดินอาหารค่อนข้างน้อย ดังนั้นการรับประทานยาผิดวิธีอาจทำให้ยาไม่ได้ประสิทธิผลในการรักษาโรค และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร จึงมีคำแนะนำในการใช้ยาที่ถูกวิธีสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยานี้3 คือ

  1. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในผู้ป่วยที่กำลังมีอาการของระบบทางเดินอาหาร หรือ มีโรคหลอดอาหารอยู่เดิม เช่น การเคลื่อนไหวของหลอดอาหารผิดปกติ หลอดอาหารตีบ เป็นต้น
  2. หากมีอาการของหลอดอาหารอักเสบหรืออาการทางระบบทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น อาการแสบร้อนหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้ เป็นต้น ควรแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อพิจารณาการหยุดรับประทานยาบิสฟอสโฟเนต
  3. รับประทานยาในตอนเช้าหลังตื่นนอนขณะท้องว่าง โดยรับประทานยาพร้อมกับน้ำเปล่า 180-240 มิลลิลิตร (ประมาณครึ่งถึงหนึ่งแก้ว) และหลังรับประทานยา ต้องอยู่ในท่าตั้งตรงไม่น้อยกว่า 30-60 นาที (นั่งตัวตรงหรือยืนตัวตรง ห้ามก้ม ห้ามเอน ห้ามนอน) ไม่ควรรับประทานยาพร้อมนม กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำแร่ และยาเม็ดแคลเซียม เนื่องจากทำให้การดูดซึมยาบิสฟอสโฟเนตลดลง
  4. หลังรับประทานยาไม่ควรรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม เช่น นม กาแฟ น้ำผลไม้ และยาอื่นๆเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาทีสำหรับยาอเลนโดรเนตและริสสิโดรเนต หรือ 60 นาทีสำหรับยาไอแบนโดรเนต

กรณีที่ลืมรับประทานยาในตอนเช้า ไม่ควรรับประทานยาในวันที่ลืมให้ข้ามการรับประทานยาในวันนั้นไปแล้วเริ่มรับประทานยาใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น ในช่วงเวลาเดิมที่เคยรับประทาน โดยห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เนื่องจากยาบิสฟอสโฟเนตดูดซึมได้ดีที่สุดตอนเช้าหลังตื่นนอนขณะท้องว่าง4

นอกจากการรับประทานยาที่ถูกวิธีแล้ว การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นประสิทธิผลสูงสุดในการรักษา เช่น ออกกำลังกายเป็นกิจวัตร รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง งดการดื่มสุราและสูบบุหรี่ ระมัดระวังการใช้ยาที่อาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เช่น ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น5

เอกสารอ้างอิง

  1. ประเสริฐ อัสสัตชัย. โรคกระดูกพรุน [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. [เข้าถึงเมื่อ 23 ส.ค. 2557]. เข้าถึงได้จาก: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/154_1.pdf
  2. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. การใช้ยาบิสฟอสโฟเนตในการรักษาโรคกระดูกพรุน [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: 2552 [เข้าถึงเมื่อ 22 ส.ค. 2557]. เข้าถึงได้จาก: http://thairheumatology.org/attchfile/bisphophonate52.pdf.
  3. ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล, บรรณาธิการ. ตำราโรคกระดุกพรุน เล่ม 2. กรุงเทพฯ:โฮลิสติก พับลิชชิ่ง; 2552:744-5.
  4. ยากับคุณ. Alendronate sodium [อินเตอร์เน็ต]. 2553 [เข้าถึงเมื่อ 24 ส.ค. 2557]. เข้าถึงได้จาก: http://www.yaandyou.net/index.php/component/drug/?nsetidT=7346&drugname=alendronate+sodium& drugtype=g.
  5. มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ.2553. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. 2553.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
กระดูกพรุน bisphosphonates หญิงวัยหมดประจำเดือน สูงอายุ
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้