หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาทาสเตียรอยด์ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

โดย นศภ. ณัฐวุฒิ ตรีรัตนชวลิต เผยแพร่ตั้งแต่ 25 กันยายน พ.ศ.2557 -- 190,736 views
 

ปัจจุบัน อาการผื่นคัน ผื่นแพ้บริเวณผิวหนัง หรือแม้แต่สิว มักรักษาด้วยการใช้ยาทา เพราะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณที่ต้องการ มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาน้อย เช่นเดียวกับ ยา สเตียรอยด์สำหรับใช้ทาภายนอก ซึ่งในปัจจุบันก็มีจำหน่ายอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นครีม เจล โลชัน หรือขี้ผึ้ง และแต่ละรูปแบบมีลักษณะของผลิตภัณฑ์และวิธีใช้ที่แตกต่างกัน

การทายาสเตียรอยด์บนผิวหนัง ตัวยาจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และไปถึงบริเวณที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์ นอกจากนี้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้ายังประกอบด้วยชั้นของเซลล์ชนิดต่างๆ ทำหน้าที่ป้องกันการซึมผ่านของสารจากภายนอกร่างกายเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะชั้นสตราตัม คอร์เนียม (Stratum corneum) เป็นชั้นที่ประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว และทำหน้าที่เป็นตัวกั้นการซึมผ่านของสารต่างๆ รวมทั้งยาสเตียรอยด์ ถึงแม้ว่ายาทาสเตียรอยด์จะสามารถลดอาการผื่นคัน ผื่นแพ้ ได้เป็นอย่างดี แต่การใช้ยาทาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้เช่น ผิวลาย ผิวบาง หรือสิว ดังนั้นในการทายาสเตียรอยด์จึงควรมีการกำหนดปริมาณยาที่เหมาะสมตามแต่ละบริเวณของร่างกาย ไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป และจะทำให้การใช้ยามีประสิทธิภาพสูงสุด แต่เกิดผลข้างเคียงจากยาน้อยที่สุด หลักการในการทายาดังกล่าวเรียกว่า Fingertips Unit (FTU) การทายาสเตียรอยด์โดยใช้หลักการนี้จะทำให้ผู้ใช้สามารถกำหนดปริมาณยาที่เหมาะสมกับบริเวณที่ต้องการทายาได้สะดวกมากขึ้น ไม่สิ้นเปลืองและเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาทาสเตียรอยด์น้อยที่สุด

หลักการของ FTU คือ กำหนดปริมาณที่จำเพาะกับบริเวณที่จะทายา โดย 1 FTU จะมีปริมาณเทียบเท่ากับ 1 ข้อของนิ้วชี้ของผู้ใช้ยา หรือคิดเป็นปริมาณ 0.5 กรัมของเนื้อครีมหรือขี้ผึ้ง และจำนวนของ FTU ที่ใช้ในแต่ละส่วนของร่างกาย ขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือความกว้างของบริเวณนั้นๆ ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ปริมาณของ FTU ขึ้นกับบริเวณต่างๆของร่างกาย

บริเวณที่ทา

ปริมาณยา (FTU)

แขน (1 ข้าง)

3

ลำตัว (ด้านหน้า)

7

แผ่นหลัง (ทั้งหลัง)

7

ขา (1 ข้าง)

6

ฝ่ามือ (1 ข้าง)

1

หลังเท้า (1 ข้าง)

2

การเลือกใช้ยาทาสเตียรอยด์จะขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคเป็นหลัก เช่น ผื่นตามข้อพับที่มีการหนาตัวขึ้น มีความจำเป็นที่ต้องได้รับยาสเตียรอยด์ชนิดที่มีความแรงสูง (high to very high potency) และเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหนอะหนะมากเพราะจะรบกวนการเคลื่อนไหว เช่น รูปแบบครีมหรือโลชัน อย่างไรก็ตามอาจเลือกใช้ยาทาสเตียรอยด์รูปแบบขี้ผึ้ง สำหรับผื่นที่มีลักษณะหนาตัวขึ้นหรือบริเวณที่มีผิวหนังหนา เช่น ผื่นหนาตัวที่เกิดจากการเกา ในบริเวณลำตัวหรือแขนขา บริเวณฝ่าเท้า หัวเข่า ข้อศอก เพราะยาทารูปแบบขี้ผึ้งจะมีสมบัติ occlusive คือสามารถปกคลุมผิวและลดการระเหยของน้ำออกจากผิวหนัง ทำให้ยาดูดซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น ส่วนกรณีเป็นผื่นบริเวณที่มีผิวหนังบอบบางหรือบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ใบหน้า เปลือกตา ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์ที่มีความแรงต่ำ เพราะผิวบริเวณนั้นมีการซึมผ่านของยาได้ดีกว่าผิวบริเวณอื่น หากใช้ยาทาที่มีความแรงสูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงแทนได้ ยาทาสเตียรอยด์ในท้องตลาด มีทั้งชนิดที่เป็นประกอบด้วยตัวยาสเตียรอยด์อย่างเดียว และชนิดที่เป็นสูตรผสม ระหว่างยาสเตียรอยด์กับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยาฆ่าเชื้อรา เพื่อให้เหมาะสมกับโรคที่มีความจำเพาะมากขึ้น เช่น ยาทาสูตรผสมระหว่าง clotrimazole กับ betamethasone สำหรับรักษาโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ เท้า หรือขาหนีบ ที่นอกจากจะมีการติดเชื้อราแล้วยังมีการอักเสบเกิดร่วมด้วย การใช้ยาทาที่เป็นสูตรผสมจะทำให้เกิดความสะดวกในการใช้ยามากขึ้น

ความถี่ในการทายาสเตียรอยด์ที่เหมาะสมคือ วันละ 1-2 ครั้ง แต่ก็อาจทายาได้บ่อยกว่านั้นในบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า และระยะเวลาในการใช้ยาทาสเตียรอยด์ ควรใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้บริเวณต่างๆ ของร่างกายมีระยะเวลาการใช้ยาทาสเตียรอยด์แตกต่างกันไป เช่น บริเวณใบหน้าไม่ควรทายานานกว่า 2 สัปดาห์ และบริเวณลำตัวไม่ควรไม่เกิน 4 สัปดาห์ ส่วนในเด็กต้องระมัดระวังการใช้ยาทาสเตียรอยด์เป็นอย่างมาก เนื่องจากผิวหนังของเด็กบางกว่าผู้ใหญ่ มีโอกาสที่ยาจะผ่านผิวหนังได้มากกว่าและเกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่า จึงแนะนำให้ใช้ยาทาสเตียรอยด์ที่มีความแรงต่ำและใช้เวลาสั้นที่สุด ควรหลีกเลี่ยงยาทารูปแบบขี้ผึ้งที่มีสมบัติ occlusive ด้วย

ยาทาสเตียรอยด์มีการใช้อย่างกว้างขวาง หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาได้ จึงควรมีการเลือกใช้อย่างยาอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นความแรงของตัวยาและรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับชนิดของโรค ความรุนแรง และบริเวณที่เป็น และใช้ในปริมาณที่เหมาะสม จึงจะเกิดประโยชน์จากการใช้ยาสูงสุด ดังนั้น ก่อนเลือกใช้ยาทาสเตียรอยด์ทุกครั้ง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร และไม่ควรตัดสินใจเลือกใช้ตามความพอใจ เพราะอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยาทาสเตียรอยด์ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Carlos G, Uribe P, Peñas PF. Rational use of topical corticosteroids. 2013 Aust Prescr 2013; 36:158–61.
  2. Kastrup EK, editor. Drug facts and comparisons 63rd ed. 2009; Missouri: Wolter Kluwer health; 2615.
  3. Finlay AY, Edwards PH, Harding KG. "Fingertip Unit" in dermatology. The Lancet. 1989; 334(8655):155.
  4. วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ. นาโนเทคโนโลยีในการนำส่งทางผิวหนัง. 2555. กรุงเทพฯ: ประชาชน; 127.
  5. วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ. ผิวพรรณและเครื่องสำอาง. 2552. กรุงเทพฯ; 41-9.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาทา สเตียรอยด์ Fingertips Unit FTU ผิวหนัง
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้