Loading…

ประโยชน์ของปลูกต้นไม้: ลดความเครียดช่วงโควิด-19

ประโยชน์ของปลูกต้นไม้: ลดความเครียดช่วงโควิด-19
อาจารย์ ดร.ภญ.ชญานิน กีรติไพบูลย์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
13,309 ครั้ง เมื่อ 1 วันที่แล้ว
2021-07-23

ในช่วงที่สถานการณ์ของโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอีกระลอกและยังไม่เห็นทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววันนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์และสุขภาพจิตของเรา ทำให้รู้สึกไม่สดชื่น ไม่อยากทำอะไร ไม่มีสมาธิจดจ่อขณะทำงาน และบางครั้งอาจมีอาการเบื่ออาหาร ความรู้สึกเหล่านี้เกิดจากความเครียดและความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากคนใกล้ตัว และกลัวการติดเชื้อเวลาที่ต้องออกจากบ้าน รวมถึงหากติดเชื้อแล้วจะได้รับการรักษาทันท่วงทีหรือไม่ หลายคนจึงใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น โดยกรมสุขภาพจิตได้ให้คำแนะนำเพื่อรับมือกับความเครียดและวิตกกังวลหลายวิธี ได้แก่ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ตระหนก ทำทุกอย่างตามปกติแม้จะเป็นช่วง work from home และหากิจกรรมทำอย่าปล่อยให้ว่าง1 โดยหนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนชอบทำเวลาอยู่ที่บ้านคือการปลูกและดูแลต้นไม้ ซึ่งบางคนอาจเคยสังเกตว่าคนที่ชอบต้นไม้ส่วนใหญ่นั้นมักเป็นคนอารมณ์ดี แต่อาจยังไม่ทราบเหตุผล บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ต่ออารมณ์และสุขภาพจิต ร่วมกับนำเสนอทางเลือกสำหรับกิจกรรมให้กับผู้ที่ต้องการความผ่อนคลายและยังไม่เคยลองปลูกต้นไม้หรือจัดสวนที่บ้านค่ะ
ทำไมคนที่ชอบต้นไม้จึงมีอารมณ์และสุขภาพจิตดี
การทำสวน และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติหรือที่รู้จักในชื่อ การทำสวนบำบัด (gardening therapy) หรือพืชสวนบำบัด (horticultural therapy) ได้นำมาใช้เพื่อบำบัดทางสุขภาพ และจิตใจมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 19702 เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่าการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติทำให้การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าของคนเราชัดเจนขึ้น รู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติ ทำให้เราตื่นตัว สร้างความสดชื่น ผ่อนคลาย รวมถึงมีพลังงานด้านบวกมากขึ้น มีความเครียดลดลง มีความสงบในจิตใจ และมีความสุขมากขึ้น3 ปัจจุบันการทำสวนบำบัดไม่เพียงนำมาใช้เพื่อสร้างความสดชื่นแก่คนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้บำบัดผู้ที่มีความต้องการพิเศษ อาทิ ผู้อยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า เหนื่อยล้าจากการทำงาน ผู้สูงอายุ เด็กสมาธิสั้นและออทิสติก4

การปลูกต้นไม้ทำให้เราผ่อนคลายได้อย่างไร
Professor Lightman จาก University of Bristol ประเทศอังกฤษ ได้ค้นพบแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในดินชื่อ Mycobacterium vaccae แบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์โดยผ่านทางเยื่อบุส่วนต่าง ๆ เช่น เยื่อบุผิวช่องจมูกและปาก เมื่อแบคทีเรียนี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เพิ่มการสร้างสารสื่อประสาทชื่อ serotonin ที่บริเวณสมอง และทางเดินอาหาร รวมถึงลดกระบวนการอักเสบภายในร่างกาย7 serotonin เป็นสารสื่อประสาทแห่งความสุข มีฤทธิ์คล้ายกับยาต้านอาการซึมเศร้า ทำให้เราอารมณ์ดี ดังนั้นหากสมองขาด serotonin จะนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้ ส่วน serotonin ในทางเดินอาหารทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ การสร้างเมือกและกรด ร่วมกับควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบที่ทางเดินอาหาร7,8 นอกจาก M. vaccae ที่เพิ่มการสร้าง serotonin แล้ว ความสงบในจิตใจ และความพึงพอใจที่เกิดขึ้นขณะที่ปลูกต้นไม้ หรือการเห็นต้นไม้ที่เราปลูกเจริญเติบโต จะทำให้สมองหลั่ง serotonin ได้เช่นกัน7,8 ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยจากหลายสถาบันที่สรุปว่า กิจกรรมที่ทำให้เราสัมผัสกับดิน ได้แก่ การจัดสวน การดูแลและตกแต่งสวน หรือการปลูกต้นไม้ สามารถทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล และลดอาการซึมเศร้าลงได้9 หลังจากนั้นการที่ต้นไม้ค่อย ๆ เจริญเติบโต ออกดอกสีสันสวยงาม หรือออกผลผลิตที่กำลังจะเก็บได้ในไม่ช้าย่อมทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจ ชื่นใจ และมีความสุข ซึ่งในขณะที่เรามีความรู้สึกพึงพอใจจะทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทแห่งความสุขอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า dopamine การที่สมองหลั่ง dopamine จะทำให้เรารู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น และลดความวิตกกังวล8,10 ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดคนที่ชอบปลูกต้นไม้ส่วนมากจะมีอารมณ์ดีนะคะ

เมื่อทราบประโยชน์ที่ได้รับจากการปลูกต้นไม้แล้วอาจทำให้หลายท่านอยากเริ่มปลูกต้นไม้ที่บ้าน แต่อาจคิดว่าบ้านของเราไม่มีพื้นที่กว้างพอ อันที่จริงแล้วกิจกรรมนี้ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากนะคะ (รูปที่ 2) เนื่องจากมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการปลูกต้นไม้แค่ในกระถางก็สามารถทำให้เรามีอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้เช่นกัน11 สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านมีความสุขและผ่อนคลายกับการปลูกต้นไม้ที่บ้านค่ะ
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30561
  2. Sullivan, M. E. "Horticultural therapy--the role gardening plays in healing." Journal-American Health Care Association 5.3 (1979): 3-5.
  3. Smith, D. J. “Horticultural therapy: the garden benefits everyone.” Journal of Psychosocial Nursing and Mental Health Services 36.10 (1998):14-21.
  4. Adevi, A. A. and Martensson F. “Stress rehabilitation through garden therapy: The garden as a place in the recovery from stress” Urban Forestry & Urban Greening 12.2 (2013): 230–237
  5. https://www.chichestergardener.com/horticultural-therapy
  6. https://www.seedyourfuture.org/horticultural_therapist
  7. Lowry, Christopher A., et al. "Identification of an immune-responsive mesolimbocortical serotonergic system: potential role in regulation of emotional behavior." Neuroscience 146.2 (2007): 756-772.
  8. Baixauli, E. “Happiness: role of dopamine and serotonin on mood and negative emotions” Open Access Emergency Medicine 2 (2017): DOI:10.4172/2165-7548.1000350
  9. Soga, M., Gaston, K. J., & Yamaura, Y. “Gardening is beneficial for health: A meta-analysis” Preventive Medicine Reports 5 (2017): 92-99.
  10. https://hside.org/plants-improve-mental-physical-health/
  11. https://blog.lnw.co.th/2017/03/21/ไอเดียปลูกผักสำหรับคน-healthy/

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ไอ ..... ใช้ยาอะไรดี 1 วินาทีที่แล้ว
บรรจุภัณฑ์บ่งชี้ร่องรอยการแกะ (Tamper-Evident Packaging): ตอนที่ 2 1 วินาทีที่แล้ว
การดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก (ตอนที่ 2)ท่านอยู่ในโดชาใด 1 วินาทีที่แล้ว
คันและยาบรรเทาอาการคัน 3 วินาทีที่แล้ว
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตอนที่ 2: มาตรฐานทางกายภาพของยาเม็ดสมุนไพร 4 วินาทีที่แล้ว
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง 4 วินาทีที่แล้ว
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดา 5 วินาทีที่แล้ว
ยาเหลือใช้ ปลอดภัยหรือไม่? “รอบรู้เรื่องยา ปรึกษาเภสัชฯ ลดยาเหลือใช้ ปลอดภัย ปลอดโรค” 5 วินาทีที่แล้ว
อาหารหลากสี มีประโยชน์หลากหลาย (ตอนที่ 4): สารเคมีที่มีประโยชน์จากผักผลไม้ที่มีสีเหลืองและสีส้ม 6 วินาทีที่แล้ว
ออกกำลังกายอย่างไรดี ? 6 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล