Loading…

การผสมยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งสำหรับรับประทาน

การผสมยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งสำหรับรับประทาน

นศภ. ฐานิตา แสงเขียว นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

200,999 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2017-02-12

โรคติดเชื้อในเด็กพบได้ทั้งการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในชุมชนมีโอกาสการเกิดขึ้นเฉลี่ย 6-8 ครั้งต่อปี1 เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นยาทางเลือกแรกที่จ่ายให้กับผู้ป่วยเด็ก ซึ่งมักจะได้รับยาฆ่าเชื้อในรูปแบบผงแห้งที่ต้องผสมกับน้ำก่อนให้ยา2 ดังนั้นวิธีการ ผสมและการเก็บรักษายาปฏิชีวนะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลผู้ป่วยควรทราบก่อนใช้ยา 
 
ภาพจาก : http://www.petmd.com/cat/conditions/eyes/c_ct_ophthalmia_neonatorium 
ข้อปฏิบัติทั่วไปในการผสมยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งแบบรับประทาน3

  1. เคาะขวดยาเพื่อให้ผงยาในขวดร่วน ไม่จับกันเป็นก้อน
  2. ใช้น้ำสุกหรือน้ำสะอาด (ห้ามใช้นำอุ่นหรือน้ำร้อน เนื่องจากอาจทำให้ยาบางชนิดเสื่อมสภาพได้) เติมลงไปในขวดประมาณ ½ ของขีดที่กำหนด หรือพอท่วมผงยา
  3. เขย่าให้ยากระจายตัวทั่วไม่มีก้อนแข็ง
  4. เติมน้ำปรับระดับให้พอดีกับขีดที่กำหนด แล้วเขย่าอีกครั้ง
  5. หลังจากผสมยาเสร็จเรียบร้อยเก็บที่อุณหภูมิห้องนาน 7 วัน ถ้าเก็บในตู้เย็นเก็บได้นาน 2 สัปดาห์
  6. กรณีที่ได้รับยามากกว่า 1 ขวด ควรรอให้ยาขวดแรกหมดก่อน แล้วจึงผสมยาขวดที่ 2

อย่างไรก็ตามยังมียาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งสำหรับประทานบางชนิดที่มีวิธีการผสมยาไม่เป็นไปตามขั้นตอนข้างต้น คือ ไม่มีขีดกำหนดบอกปริมาตรบนขวดยา แต่กำหนดปริมาตรน้ำที่จะเติมลงไปในขวดยา ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 
ซิโทรแม็กซ์ (Zithromax®) ประกอบด้วยตัวยา อะซิโทรมัยซิน (azithromycin) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดผงสำหรับผสมเป็นยาน้ำแขวนตะกอน ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีวิธีการผสมเป็นยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทานดังนี้4

  1. เคาะขวดให้ผงยากระจายตัวไม่จับเป็นก้อน กดฝาขวดพร้อมหมุนตามลูกศรเพื่อให้ขวดเปิด
  2. ตวงน้ำสุกหรือน้ำสะอาดให้ถึงขีดบนถ้วยตวงที่ให้มาในกล่อง (9 มิลลิลิตร) เทลงในขวดเพียงครั้งเดียว เขย่าให้ยาละลายเข้ากัน
  3. เขย่าขวดทุกครั้งก่อนรินยาออกมารับประทาน
  4. หลังจากผสมยาเสร็จเรียบร้อยเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียสนาน 10 วัน

ออมนิเซฟ (Omnicef®) ประกอบด้วยตัวยา เซฟดิเนียร์ (cefdinir) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดผงสำหรับผสมเป็นยาน้ำแขวนตะกอน ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีวิธีการผสมเป็นยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทานดังนี้5

  1. เคาะขวดเพื่อให้ผงยาไม่ติดกัน เปิดฝาขวด
  2. ตวงน้ำสุกหรือน้ำสะอาด ลงในถ้วยตวงที่ให้มาในกล่อง โดยแบ่งการตวงน้ำเป็น 2 ส่วนดังนี้ 
    กรณีปริมาตรสุทธิ 30 มิลลิลิตร ตวงน้ำส่วนแรกปริมาตร 9 มิลลิลิตร และตวงน้ำส่วนที่เหลือ 10 มิลลิลิตร 
    กรณีปริมาตรสุทธิ 60 มิลลิลิตร ตวงน้ำส่วนแรกปริมาตร 19 มิลลิลิตร และตวงน้ำส่วนที่เหลือ 20 มิลลิลิตร
  3. เติมน้ำส่วนแรก ลงในขวด เขย่าจนส่วนผสมเข้ากันดี
  4. เติมน้ำส่วนที่เหลือให้ครบตามปริมาตรที่กำหนด แล้วเขย่าอีกครั้ง
  5. หลังจากที่ผสมยาเสร็จเรียบร้อยเก็บที่อุณหภูมิห้อง (ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส) นาน 7 วัน 
    ถ้าเก็บในตู้เย็น (อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นควรทิ้ง

นอกจากวิธีการผสมยาที่ผู้ดูแลควรทราบเพื่อผสมยาน้ำแขวนตะกอนให้ได้ความเข้มข้นที่เหมาะสมตามที่บริษัทระบุแล้ว การเก็บรักษายาหลังผสมและวันสิ้นสุดการใช้ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลให้ความสำคัญเช่นกันเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ป่วยได้รับประทานยาที่มีความคงตัวและออกฤทธิ์ได้ดังเดิมเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Chan GC, Tang SF. Parental knowledge, attitudes and antibiotic use for acute upper respiratory tract infection in children attending a primary healthcare clinic in Malaysia. Singapore Med J. 2006;47:266–70.
  2. Fokkens WJ, Lund VJ, Mullol J, Bachert C, Alobid I, Baroody F, et al. European Position Paper on Rhinosinusitis and Nasal Polyps 2012. Rhinol Suppl. 2012 Mar(23):1-298.
  3. ุชาดา ชุติมาวรพันธ์, บรรณาธิการ. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม. กรุงเทพ, 2554
  4. Zithromax™ (azithromycin) [prescribing information]. Thailand: Pfizer. November 2013.
  5. Omnicef™ (cefdinir) [prescribing information]. Thailand: Pfizer. April 2012.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

อาหารหลากสี มีประโยชน์หลากหลาย (ตอนที่ 3): สารเคมีที่มีประโยชน์จากผักผลไม้ที่มีสีม่วงและสีน้ำเงิน 3 วินาทีที่แล้ว
ไวรัสร้ายของลูกน้อย…โรคอาร์เอสวี (RSV) 17 วินาทีที่แล้ว
ห้องแยกผู้ป่วยและแนวทางการกักตัวที่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 21 วินาทีที่แล้ว
กล่องโฟมบรรจุอาหาร อันตรายอย่ามองข้าม 22 วินาทีที่แล้ว
เครื่องวัดความดันโลหิต 27 วินาทีที่แล้ว
เป็นเบาหวาน...เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล 32 วินาทีที่แล้ว
การดื่มกาแฟกับสุขภาพ 33 วินาทีที่แล้ว
การนอน .. เพื่อชะลอวัยและเพื่อสุขภาพ 37 วินาทีที่แล้ว
ผู้สูงวัยกับสุขภาพจิตที่ต้องดูแล 39 วินาทีที่แล้ว
ภาวะไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ 43 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา