Loading…

เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน ... รับมือได้อย่างไร

เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน ... รับมือได้อย่างไร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชากร เอื้อติวงศ์

ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

1,637 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2024-10-29

เวลาต้องเดินทางไม่ว่าจะทางรถ  ทางเรือ หรือทางเครื่องบิน เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ หรือถึงกับอาเจียน เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า “เมาจากการเคลื่อนไหว (motion sickness)” ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดกับการโดยสารยานพาหนะได้ทุกประเภท โดยสาเหตุเกิดจากสมองรับสัญญาณที่ขัดแย้งกันระหว่างสิ่งที่ตามองเห็นกับสิ่งที่ร่างกายรับรู้ เช่น เวลานั่งรถยนต์ร่างกายรับรู้ว่านั่งอยู่กับที่แต่ตากลับมองเห็นว่ามีการเคลื่อนตัว ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนหัว อาเจียน แต่เมื่อใดที่ยานพาหนะหยุดเคลื่อนไหว อาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติ 

อย่างไรก็ตาม “อาการเมาจากการเคลื่อนไหว” ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ในบางคนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ อาจจะทำให้มีอาการ “เมาจากการเคลื่อนไหว”ได้มากกว่าผู้อื่น ได้แก่

  • เด็กอายุระหว่าง 2-12 ปี
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ ใช้ยาคุมกำเนิด และกำลังมีประจำเดือน 
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวที่มีประวัติเมาจากการเคลื่อนไหว
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นไมเกรน หรือเป็นโรคพาร์กินสัน

สำหรับคนที่มักมีอาการอาการเมารถ เมาเรืออยู่แล้ว หนึ่งวิธีที่ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดอาการนั่นก็คือ “การรับประทานยาป้องกันอาการเมาจากการเคลื่อนไหว” หรือ “ยาแก้เมารถ” ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้แบ่งตามการออกฤทธิ์ มี 2 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มยาแก้แพ้ หรือกลุ่มยาต้านฮิสตามีน (antihistamine) จะออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับฮิสตามีนและต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน (acetylcholine) ยาในกลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการง่วงซึม ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ได้แก่

-  Dimenhydrinate เป็นยาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ขนาดรับประทาน 50-100 มิลลิกรัม (1-2 เม็ด) โดยแนะนำรับประทานก่อนออกเดินทางประมาณ 30 นาทีเพื่อให้ยาดูดซึมและออกฤทธิ์ สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้ายังมีอาการ 

  • Cyclizine ขนาดรับประทาน 50 มิลลิกรัม รับประทานก่อนออกเดินทาง 1 ชั่วโมง และสามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง
  • Meclizine ขนาดรับประทาน 25-50 มิลลิกรัม รับประทานก่อนออกเดินทาง 1 ชั่วโมง และสามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 24 ชั่วโมง

2. กลุ่มยาต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีน โดยมีกลไกเข้าจับกับตัวรับแอซิติลโคลีน ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงทำให้เกิดการง่วงซึม และผลข้างเคียงอื่นๆที่อาจจะพบ เช่นปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ได้แก่

  • Scopolamine เป็นรูปแบบแผ่นแปะผิวหนังที่บริเวณหลังใบหู ปริมาณการใช้อยู่ที่ 1 มิลลิกรัม โดยให้แปะ 4-6 ชั่วโมง ก่อนออกเดินทางยาจะค่อยๆออกฤทธิ์ มีผลนาน 3วัน
  • Diphenidol มีรูปแบบยาเม็ด ขนาด 25 มิลลิกรัม รับประทาน 1-2 เม็ด ก่อนเดินทาง 30 นาทีและสามารถซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง แต่อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนในระดับมาก 

การรับประทานยาป้องกันอาการเมาจากการเคลื่อนไหว เป็นวิธีการที่ง่ายและได้ประสิทธิภาพดี แต่อย่างไรก็ตามแนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรก่อนรับประทานยา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก คนที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

Photo: Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

1. Leung K. A. and H. L. Kam (2019). Motion sickness: an overview. Drugs Context 2019; 8:2019-9-4. DOI:10.7573/dic.2019-9-4.

2. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682539.html [เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567]

3. https://www.bbc.com/thai/articles/c15g1dejz9no [เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567]

4. https://go.drugbank.com/drugs/DB01231 [เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567]

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

อาหารหลากสี มีประโยชน์หลากหลาย (ตอนที่ 4): สารเคมีที่มีประโยชน์จากผักผลไม้ที่มีสีเหลืองและสีส้ม 1 วินาทีที่แล้ว
มะตูมซาอุ ผักหลายชื่อ 3 วินาทีที่แล้ว
พยาธิในเนื้อหมู 4 วินาทีที่แล้ว
การรักษาแผลเป็นโดยการใช้สารสกัดจากหัวหอม 6 วินาทีที่แล้ว
รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ 12 วินาทีที่แล้ว
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดา 15 วินาทีที่แล้ว
การฉีดวัคซีนไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก ผู้สูงอายุทำไมต้องฉีดวัคซีน ? 18 วินาทีที่แล้ว
ยาเม็ดคุมกำเนิด : ข้อควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นที่รบกวนประสิทธิภาพและความปลอดภัย 19 วินาทีที่แล้ว
การใช้สมุนไพร อายุรเวท รักษามะเร็ง 21 วินาทีที่แล้ว
วิตามินดี ป้องกันกระดูกหัก.....จริงหรือ 26 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา