Loading…

โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อ อีโคไล (E. coli)

โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อ อีโคไล (E. coli)
คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
136,958 ครั้ง เมื่อ 1 วันที่แล้ว
2011-06-12

อุบัติการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วง จากเชื้อแบคทีเรียอีโคไลในทวีปยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน แล้วระบาดไปยังสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประทศ จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ทำให้มีประชาชนกว่าสองพันรายเจ็บป่วย อีกทั้งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 24 ราย นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าพบผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโคไลอีกสายพันธุ์หนึ่งเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นบ้างแล้ว สำหรับในประเทศไทยแล้วยังไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ที่พบในเยอรมณีเกิดขึ้น แต่เราลองมาทำความรู้จักกับเชื้อชนิดนี้กันบ้างจะได้ระมัดระวังสุขภาพกันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่วิตกกังวลจนเกินไป ตลอดจนสามารถรับมือกับเชื้อได้อย่างเหมาะสม

อีโคไลมีชื่อเต็มๆว่า เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) เป็นเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่นทั่วไป จึงตรวจพบได้จากอุจจาระในปริมาณมาก โดยปกติอีโคไลประจำถิ่นเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อโรค แต่อาจฉวยโอกาสก่อโรคในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ดังนั้น จึงอาจเป็นปัญหาการติดเชื้อในโรงพยาบาล ทว่า อีโคไลในลำไส้มีประโยชน์ต่อมนุษย์เพราะช่วยสร้างวิตามินเค เป็นต้น

อีโคไลชนิดก่อโรค

อีโคไลที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงในคนสามารถจำแนกได้เป็นกลุ่มต่างๆ ตามลักษณะการก่อโรค ซึ่งแต่ละกลุ่มประกอบด้วยเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติในการก่อโรคแตกต่างกัน สามารถสร้างสารพิษและปัจจัยในการก่อโรคแตกต่างกัน ซึ่งเชื้อจะก่อโรคได้เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยการกินอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้ออีโคไลเหล่านี้เข้าไป ได้แก่

เอนเทอโรท็อกซิเจนิก อีโคไล (Enterotoxigenic E. coli) สายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการท้องร่วงในทารก ในคนเดินทางไปต่างถิ่น สร้างสารพิษเอนเทอโรท็อกซินที่ทำให้มีอาการท้องร่วงเป็นน้ำซาวข้าวคล้ายอหิวาตกโรค

เอนเทอโรเพโทเจนิก อีโคไล (EnteropathogenicE. coli) สายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงในทารก สร้างสารพิษที่ทำลายเซลล์คล้ายสารพิษชิกาจากเชื้อบิดซิเจลลา (Shiga like toxin)

เอนเทอโรเอกกริเกทีฟ อีโคไล (Enteroaggregative E. coli) เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงแบบเรื้อรังในเด็กทารกบางรายมีอาการอุจจาระร่วงนานกว่า 14 วัน และทำให้ถึงตาย

เอนเทอโรอินเวซีบ อีโคไล (Enteroinvasive E. coli) สายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการคล้ายบิดจากเชื้อซิเจลลา แต่มักไม่เข้าสู่กระแสเลือด

เอนเทอโรฮีโมเรจิกอีโคไล (Enterohemorrhagic E.coli)สายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงอาจมีเลือดปน อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ได้ อาเจียน สร้างสารพิษที่ทำลายเซลล์ ที่เรียกว่าสารพิษชิกา (Shiga toxin) และสารพิษคล้ายชิกา (Shiga-like toxin) ซึ่งเป็นสารพิษจากเชื้อบิดซิเจลลา (Shigella)

Shiga-toxin producing Escherichia coli (STEC)

เชื้ออีโคไลที่กำลังระบาดในเยอรมณีในปัจจุบัน จัดอยู่ในกลุ่ม เอนเทอโรฮีโมเรจิกอีโคไล ซึ่งสร้างสารพิษชิกา เรียกว่า Shiga-toxin producing Escherichia coli (STEC)เชื้ออีโคไลกลุ่มนี้ ปัจจุบันพบแล้วมากกว่า 100 โอซีโรไทป์ ซึ่งสายพันธุ์ที่พบระบาดบ่อย คือ ซีโรไทป์ O157:H7 แต่เชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนี้ คือ ซีโรไทป์ O104:H4 ซึ่งมีความรุนแรงมากอาการทีพบในผู้ป่วยได้แก่ อาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นเลือด อาจมีไข้แต่ไข้ไม่สูง (ต่ำกว่า 38.3 องศาเซลเซียส) อาเจียน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรักษาหายได้ใน 5-7 วัน ผู้ป่วยบางรายเช่นเด็กเล็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนมีเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย (Haemorrhagic uremic syndrome, HUS) ภายหลังอาการท้องร่วงหนึ่งสัปดาห์ มีอาการอ่อนเพลียมาก ผิวหนังซีดเพราะภาวะเลือดจาง อาจทำให้เสียชีวิตได้ อัตราการตายสูงประมาณร้อยละ 5 ผู้ป่วยบางรายมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น ช็อกหมดสติได้ พบว่าเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด จึงต้องเลือกใช้ยาที่ยังมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้ออย่างถูกต้อง

กลไกการเกิดโรค

เชื้อสามารถสร้างสารพิษชิกา ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น2 กลุ่ม คือ Shiga toxin 1 (STX1) และ Shiga toxin 2 (STX2) นอกจากนั้น เชื้อสร้างโปรตีนอินติมิน (Intimin) ซึ่งเชื้อใช้ในการเกาะติดกับเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ และสร้างสารพิษชนิดเอนเทอโรฮีโมลัยซิน (enterohaemolysin) ซึ่งมีผลต่อภาวะเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย

การป้องกันการติดเชื้อ

เชื้ออีโคไล ก่อโรคได้โดยการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน เชื้อเข้าไป เท่านั้น และเชื้อนี้ฆ่าได้ด้วยความร้อน ดังนั้นจึงป้องกันการติดเชื้อได้โดยการรับประทานอาหารปรุงสุก ส่วนผัก ผลไม้ ต่างๆ ต้องล้าง ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หรือแช่ผัก ผลไม้ในน้ำด่างทับทิม น้ำส้มสายชู

ยาล้างผักแช่ทิ้งไว้ ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ก็จะสามารถชะล้างเชื้อจุลินทรีย์ทุกชนิดที่ปนเปื้อนได้

เอนเทอโรฮีโมเรจิกอีโคไลทุกซีโรทัยป์ยังไม่พบระบาดในประเทศไทย แม้ว่าจะสามารถตรวจพบสายพันธุ์ O157:H7 ในผู้ป่วยอาการท้องร่วงได้บ้างก็ตาม ดังนั้น การดูแลสุขอนามัยโดยเฉพาะการดื่มน้ำ อาหารที่สะอาด ปรุงสุก ตลอดจนอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหารให้ผู้อื่น สามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นได้ และที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะจนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่สามารถพบแหล่งที่มาของเชื้อ

........ บริโภคผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไทย ..........จะปลอดภัยทุกคน

บทความโดย : รศ. ดร. จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์


ภาควิชาจุลชีววิทยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ปลาดิบไม่มีพยาธิ (จริงหรือ ?) 1 วินาทีที่แล้ว
ออกกำลังกายอย่างไรดี ? 1 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 2 วินาทีที่แล้ว
ยาปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและแนวทางการป้องกันตนเอง 9 วินาทีที่แล้ว
ภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก (multisystem inflammatory syndrome in children; MIS-C) 12 วินาทีที่แล้ว
คะน้าเม็กซิโก…ต้นไม้แสนอร่อย 13 วินาทีที่แล้ว
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตอนที่ 2: มาตรฐานทางกายภาพของยาเม็ดสมุนไพร 15 วินาทีที่แล้ว
คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการใช้กัญชา 19 วินาทีที่แล้ว
เบต้ากลูแคนจากเห็ดแครง 21 วินาทีที่แล้ว
ผลิตภัณฑ์พลาสติกกับอาหาร 21 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล