วิตามินดี ป้องกันกระดูกหัก.....จริงหรือ
รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภก. พลัฏฐ์ การเมือง ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
23,650 ครั้ง เมื่อ 5 ช.ม.ที่แล้ว | |
2020-07-13 |
ใครๆ ก็พูดกันว่า วิตามินดีป้องกันกระดูกหัก เรื่องนี้จริงหรือไม่ มาดูกัน
วิตามินดี เป็นวิตามินชนิดหนึ่ง ละลายได้ดีในไขมัน จึงพบวิตามินดีในอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ไข่แดง และตับ ร่างกายของเรายังสามารถสร้างวิตามินดีขึ้นได้เอง โดยเมื่อผิวหนังถูกแสงแดด จะเกิดการปลี่ยนสารชนิดหนึ่งที่ผิวหนัง สารนี้มีชื่อเรียกว่า 7-dehydrocholesterol ด้วยกระบวนการหลายขั้นตอนจนเป็นวิตามินดีในที่สุด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “วิตามินดี...ประโยชน์ดีๆ มีมากกว่าที่คิด”)
วิตามินดี มีผลต่อกระดูกทางอ้อม โดยช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูก หากรับประทานแคลเซียมน้อย จะมีผลทำให้กระดูกบาง หรือ กระดูกพรุนได้ แต่ทั้งนี้การรับประทานแคลเซียมเพียงอย่างเดียวโดยที่ร่างกายไม่มีวิตามินดี การดูดซึมแคลเซียมก็จะน้อยไปด้วย เนื่องจากหน้าที่หลักของวิตามินดี คือ ควบคุมสมดุลของระดับแคลเซียมในร่างกาย ดังนั้นหากได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ จะมีผลเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนหรือโรคกระดูกน่วม (osteomalacia) ในผู้ใหญ่1 ซึ่งเมื่อหกล้มจะมีโอกาสกระดูกหักตามมาได้
โดยทั่วไปร่างกายมักไม่ขาดวิตามินดี หากมีการทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ ให้ผิวหนังถูกแสงแดด ร่างกายก็จะได้รับวิตามินดีจากการสร้างที่ผิวหนัง แต่ในผู้ที่มีพฤติกรรมเลี่ยงแสงแดด ชอบอยู่ในที่ร่ม หรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีได้ลดลง2 จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินดีและอาจเกิดโรคกระดูกพรุนตามมาได้ จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทย ปี พ.ศ. 2551 พบจำนวนผู้ที่มีภาวะวิตามินดีไม่เพียงพอ และภาวะขาดวิตามินดีเท่ากับร้อยละ 45.2 และ 5.7 ตามลำดับ3 นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาในสตรีวัยทองและสูงอายุของจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2549 พบว่าจำนวนสตรีวัยทองร้อยละ 60.2 และ สตรีสูงอายุที่อยู่ในเมืองร้อยละ 65.4 มีภาวะขาดวิตามินดี แต่สตรีสูงอายุที่อยู่ในชนบทที่มีภาวะขาดวิตามินดี มีเพียงร้อยละ 15.44
ดังนั้น เราจึงควรเดินออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งบ้าง โดยใช้เวลาในช่วงเช้า (8 – 10 น.) หรือบ่าย (15 – 17 น.) ซึ่งมีแดดอ่อนๆ ประมาณวันละ 15-30 นาที5 หากทำได้ทุกวัน ร่างกายจะไม่ขาดวิตามินดี แต่ในผู้ป่วยที่นอนติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่เดินไม่สะดวก การโดนแสงแดดทุกวันอาจทำไม่ได้ ควรเสริมการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น ไข่แดง ตับ ปลาแซลมอน เพื่อทำให้ร่างกายไม่ขาดวิตามินดี
อย่างไรก็ตาม ในกรณีจำเป็น อาจต้องรับประทานวิตามินดีที่ทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย ร่วมไปกับการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์แคลเซียม เพื่อให้สมดุลแคลเซียมในร่างกายอยู่ในระดับที่เหมาะสมและลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยา มีตัวยาสำคัญแตกต่างกันไป อาจมีวิตามินดีเพียงอย่างเดียวโดยอยู่ในรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้เลย นั่นคือ calcitriol (มีชื่อทางเคมีว่า 1,25-dihydroxycholecalciferol) บางผลิตภัณฑ์มีวิตามินดีที่ต้องไปผ่านกระบวนการทางเคมีในร่างกายก่อนเพื่อทำให้เป็นวิตามินดีที่อยู่ในรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้ ซึ่งอาจเป็น calcidiol (มีชื่อทางเคมีว่า 25-hydroxycholecalciferol) หรือ cholecalciferol (อาจเรียกว่า vitamin D3 ก็ได้) หรือ ergocalciferol (อาจเรียกว่า vitamin D2 ก็ได้) หรือ alfacalcidol (มีชื่อทางเคมีว่า 1-hydroxycholecalciferol) บางผลิตภัณฑ์มีวิตามินดีผสมอยู่กับแคลเซียม ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์วิตามินดีนี้เอง การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์และเภสัชกร เพื่อให้เหมาะสมและจำเพาะกับโรคหรือภาวะของผู้ที่จะรับประทาน (รายชื่อวิตามินดี แสดงในตารางที่ 1)
รูปแบบของวิตามินดีที่แนะนำสำหรับป้องกันหรือรักษาโรคกระดูกพรุนโดยสมาคมต่อไร้ท่อแห่งประเทศไทย คือ ergocalciferol (วิตามินดี 2) หรือ cholecalciferol (วิตามินดี 3)1 และไม่แนะนำให้ใช้วิตามินดีชนิด calcitriol หรือ อนุพันธ์ของวิตามินดีบางชนิด เช่น alfacalcidiol ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็น การใช้วิตามินดีจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก calcitriol หรือ alfacalcidiol อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้ง่าย1 รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในปัสสาวะสูงขึ้นและอาจก่อให้เกิดนิ่วในไตได้ด้วย6 โดยเฉพาะเมื่อรับประทานร่วมกับผลิตภัณฑ์แคลเซียม หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม
โดยสรุป วิตามินดีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันกระดูกหัก หรือแม้แต่โรคกระดูกพรุนก็ป้องกันไม่ได้ แต่หากได้รับแคลเซียมร่วมไปด้วยในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และลดโอกาสเสี่ยงต่อกระดูกหัก ได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เพื่อให้การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์วิตามินดีได้รับประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย
การตรวจปัสสาวะ 1 วินาทีที่แล้ว | |
น้ำมันหอมระเหย...ชีวิตนี้ขาดเธอไม่ได้ 3 วินาทีที่แล้ว | |
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 4 วินาทีที่แล้ว | |
คำแนะนำการเลือกใช้ครีมกันแดด 8 วินาทีที่แล้ว | |
ความเครียดและภาวะปวดกล้ามเนื้อ 1 นาทีที่แล้ว | |
ดนตรีและการพัฒนาสมอง 1 นาทีที่แล้ว | |
กัญชากับการรักษาโรค 1 นาทีที่แล้ว | |
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง 1 นาทีที่แล้ว | |
เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน ... รับมือได้อย่างไร 1 นาทีที่แล้ว | |
รู้รอบตอบชัด สารพัด “ยาลดกรด” 1 นาทีที่แล้ว |
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome