ยาแก้ไอ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (dextromethorphan) และการนำไปใช้ ในทางที่ผิด
คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล | |
755,816 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว | |
2010-02-04 |
Dextromethorphan เป็นยาลดอาการไอที่มีความนิยมใช้กันมานาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีและมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่พบรายงานการนำ dextromethorphan มาใช้ในทางที่ผิดและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น
Dextromethorphan เป็นอนุพันธุ์ของ codeine มีฤทธิ์ต่อประสาทหลายอย่าง เช่น ปิดกั้น NMDA receptor, neuronal nicotinic receptor, เพิ่มปริมาณสารสื่อสมอง serotonin และกระตุ้น sigma receptor ยา dextromethorphanส่วนใหญ่ถูกผลิตอยู่ในรูปของยาเม็ดและยาน้ำเชื่อม ขนาดการรักษาปกติ คือ 15-30 mg ทุก 6-8 ชั่วโมง และขนาดยาต่อวันสูงสุด คือ 120 mg ซึ่งในขนาดยาปกติจะไม่มีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุขหรือมีฤทธิ์แก้ปวดหรือทำให้เกิดความเป็นพิษ แต่มีผู้ที่นำไปใช้ในทางที่ผิดโดยใช้ยาในขนาดสูง คือ มากกว่า 360 mg เพื่อทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria)หรือลดความปวด ซึ่งในปัจจุบันพบรายงานการได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาและการเสียชีวิตจากการใช้ยาในทางที่ผิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาการพิษเฉียบพลันจากการได้รับ dextromethorphan เกินขนาดจะขึ้นกับขนาดของการรับประทานยา ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกันหรือแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก พูดไม่ชัด ม่านตาขยาย เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง มึนงง ประสาทหลอน กระวนกระวาย สั่น ชัก ปวดศีรษะ สูญเสียความทรงจำ หมดสติ กดการหายใจ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ อาการผิดปกติทางประสาทมักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยาไปแล้ว 15-60 นาที และอาการจะคงอยู่ประมาณ 6ชั่วโมง
Dextromethorphan เป็นสาเหตุของการติดยาทางจิตใจ แต่ไม่ทำให้ติดทางร่างกาย อย่างไรก็ดีพบรายงานการติดยาและทำให้เกิดอาการอยากยาจากการใช้ยาโดยวิธีสูดผงทางจมูกเป็นเวลานานประมาณ 2-3 เดือน และพบรายงานในผู้ป่วยอีกรายหนึ่งที่กินยาน้ำเชื่อมแก้ไอที่มียา dextromethorphan เป็นเวลา 8 ปี และเริ่มมีอาการประสาทหลอน แต่อาการนี้จะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อหยุดยา ผลของ dextromethorphan ในระยะยาวต่อจิตใจยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีรายงานว่ามีผู้กิน dextromethorphan 1,500 mg ในครั้งเดียว จะมีอาการประสาทหลอนเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังจากกินยา จากนั้นตามด้วยอาการ ซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย และนอนไม่หลับ เมื่อหยุดยาอาการจะหายไป
การให้ความรู้เรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องและแก้ไขความเชื่อผิดๆ เช่น กินยาแล้วจะมีความสุข หรือกินยาแล้วถูกตีจะไม่เจ็บ เป็นวิธีหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะช่วยลดการนำยา dextromethorphan และยาอีกหลายชนิดมาใช้ในทางที่ผิดซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทุกฝ่ายควรให้ความสนใจและร่วมมือกันในการแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องและมีการติดตามผลอย่างจริงจัง
Reference:
1. Dextromethorphan. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Jan 22. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Feb 4].
ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา (เบาหวานขึ้นตา) 2 วินาทีที่แล้ว | |
คาเฟอีนในน้ำนมแม่...มีผลอย่างไรต่อทารก? 3 วินาทีที่แล้ว | |
การปฐมพยาบาลด้วยสมุนไพร: สมุนไพรสำหรับอาการภายนอก 19 วินาทีที่แล้ว | |
เลือดจาง โลหิตจาง กับยาฉีดอีพีโอ (EPO) 19 วินาทีที่แล้ว | |
สมุนไพรป้องกันยุง 20 วินาทีที่แล้ว | |
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 20 วินาทีที่แล้ว | |
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตอนที่ 3: สนุกกับการผลิตเจลสมุนไพร 26 วินาทีที่แล้ว | |
ยาที่ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 33 วินาทีที่แล้ว | |
เก็บยาในโรงพยาบาลให้ถูกวิธี 36 วินาทีที่แล้ว | |
การคัดเลือกยาเข้าโรงพยาบาล ตามวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และการประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (price performance) 38 วินาทีที่แล้ว |
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome