ยาแก้ปวดประจำเดือน...ใช้อย่างไร
อาจารย์ ดร.ภก สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
297,138 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว | |
2019-09-20 |
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยเจริญพันธุ์ จะเป็นช่วงที่ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน และมีสาวๆจำนวนมากที่พบกับปัญหาปวดท้องในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งอาจรบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำงาน หรือการเรียน เป็นต้น จึงหาซื้อยาแก้ปวดมารับประทาน โดยหลายๆคนมีความเคยชินหรือได้รับคำแนะนำจากเพื่อนเกี่ยวกับยาที่ใช้ เช่น เมื่อเข้ามาในร้านยาจะแจ้งเภสัชกรว่า “ขอซื้อยาแก้ปวดประจำเดือนเม็ดรีๆ สีเหลือง” หรืออาจระบุชื่อการค้าของยา เช่น พอน-สแตน (Ponstan®) หรือ โก-เฟน (Gofen®) เป็นต้น และไม่รับยาอื่นที่เภสัชกรแนะนำให้ใช้แทน แต่จริงๆแล้วยาแก้ปวดที่สามารถใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนมีหลายชนิด เราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการปวดประจำเดือนกันว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการนี้
อาการปวดประจำเดือนเกิดจากอะไร?
โดยทั่วไป อาการปวดประจำเดือน (กรณีที่ไม่มีความผิดปกติภายในมดลูก รังไข่ หรือช่องคลอด) มักพบภายใน 6-12 เดือนหลังจากการมีประจำเดือนครั้งแรก และอาการมักเกิด 1-2 วันก่อนมีประจำเดือนหรืออาจเกิดขึ้นในวันที่มีประจำเดือนก็ได้ ซึ่งการเกิดอาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสารกระตุ้นการอักเสบ ได้แก่ โพรส-ตา-แกลน-ดิน (prostaglandins) ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ในเลือดประจำเดือนของผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนมีสารชนิดนี้สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีอาการปวดถึง 2 เท่า ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการอักเสบแล้ว ยังมีผลทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวมากกว่าปกติ จึงทำให้มีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน และอาจลามไปที่เอวด้านหลังและต้นขา หรือในบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และอ่อนเพลียร่วมด้วย
ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนคือยาอะไร?
ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ใช้เป็นอันดับแรกในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน เรียกสั้นๆว่า เอ็น-เสด (NSAIDs ย่อมาจาก Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) ซึ่งเป็นกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยยาออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน จึงมีผลลดอาการปวดประจำเดือนได้ อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้ประกอบด้วยยาหลายชนิด และยังไม่มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่ายาชนิดใดดีกว่ากันในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน แต่การเลือกใช้ยาจะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ประวัติการแพ้ยา และโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น ผู้ที่มีแผลในทางเดินอาหาร เป็นโรคตับหรือไตบกพร่องรุนแรง ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ หรือผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจใช้ยากลุ่ม เอ็น-เสด ได้เพียงบางชนิด เป็นต้น ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา และไม่ควรแบ่งยาของตนเองให้ผู้อื่นใช้ ตัวอย่างยาที่ใช้บ่อยและขนาดยาแสดงดังตาราง
ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนใช้อย่างไร?
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดทุกรอบเดือน และมีรอบเดือนสม่ำเสมอ (สามารถคาดการณ์วันที่จะเกิดประจำเดือนได้) ควรเริ่มรับประทานยากลุ่ม เอ็น-เสด ภายใน 1-2 วัน ก่อนมีประจำเดือน จะให้ประสิทธิผลดีที่สุด แต่หากไม่สามารถทำได้ เช่น ปวดประจำเดือนครั้งแรก และเกิดขึ้นเมื่อมีประจำเดือนแล้ว เป็นต้น สามารถรับประทานยาให้เร็วที่สุดหลังมีอาการปวด และหลังจากนั้นควรรับประทานยากลุ่มนี้ต่อเนื่องจนถึง 2-3 วันแรกของการมีประจำเดือน
นอกจากการรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบแล้ว ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้รับประทานฮอร์โมนคุมกำเนิดเพื่อปรับระดับฮอร์โมนในร่างกาย
ปวดประจำเดือน ทำไมได้ยาแก้ปวดฟันมารับประทาน?
เนื่องจากสารโพรสตาแกลนดินเกี่ยวข้องกับอาการปวดและอักเสบหลายชนิด จึงไม่แปลกที่บางครั้งผู้ป่วยปวดคนละตำแหน่ง แต่แพทย์หรือเภสัชกรจ่ายยาตัวเดียวกัน เช่น พอน-สแตน หรือ โกเฟน สามารถใช้ได้ทั้งแก้ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และปวดประจำเดือน เป็นต้น แต่การเลือกใช้ยาขึ้นกับหลายปัจจัยดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใช้ยาไม่ได้ผล คือ ขนาดยาไม่เหมาะสม จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเหล่านี้
วิธีการดูแลตัวเองในผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือน?
นอกจากการใช้ยาแล้ว วิธีการเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ เช่น
นอกจากนี้ อาการปวดประจำเดือนอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติภายในมดลูก รังไข่ หรือช่องคลอด เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยเช่นกัน ดังนั้น ในผู้ที่ปวดประจำเดือนนานผิดปกติ หรือใช้ยาแก้ปวดแล้วไม่บรรเทา หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีประจำเดือนมากกว่าปกติหรือนานกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดดังกล่าว
ผลแลปเลือดกับโรคไตเรื้อรัง 1 วินาทีที่แล้ว | |
ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง...ใช้อย่างไร 6 วินาทีที่แล้ว | |
เป็นเบาหวาน...เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล 12 วินาทีที่แล้ว | |
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว 33 วินาทีที่แล้ว | |
อาหารหลากสี มีประโยชน์หลากหลาย (ตอนที่ 3): สารเคมีที่มีประโยชน์จากผักผลไม้ที่มีสีม่วงและสีน้ำเงิน 34 วินาทีที่แล้ว | |
น้ำตาลทำให้แก่เร็ว..จริงหรือไม่ 1 นาทีที่แล้ว | |
กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว | |
มะเร็ง ... นวัตกรรมใหม่ในการรักษาและวินิจฉัยที่ได้ผลเฉียบกว่าเดิม 1 นาทีที่แล้ว | |
ไขข้อข้องใจ...การตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) 1 นาทีที่แล้ว | |
ยารักษาโรคเบาหวาน ใช้อย่างไร 1 นาทีที่แล้ว |
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome