Loading…

ภาชนะเก็บยา..ที่เหมาะสมต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน

ภาชนะเก็บยา..ที่เหมาะสมต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน
ภก. บรมพจน์ พฤฒิวนาสัณฑ์ ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
53,532 ครั้ง เมื่อ 1 นาทีที่แล้ว
2014-05-04
คุณเภสัชกรครับ ยานี้เก็บอย่างไรดี? ยานี้ต้องกันแสงแดดไหม? ต้องใส่ซองกันความชื้นหรือไม่? คำถามการเก็บยาพวกนี้เป็นคำถามยอดนิยมมาก ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เพราะอะไรหรือ? หากตอบด้วยความรู้สึกที่เป็นผู้ใช้ยา คือเราอยากให้ยาที่เรารับประทาน ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพการรักษา ไม่เสื่อมหรือหมดอายุก่อนจบการรักษา แน่นอนว่าการรับยาในแต่ละครั้งเรามักจะได้รับการจ่ายยามาเพื่อทานอย่างน้อยเป็นเวลา 3-5 วัน บางท่านอาจจะได้รับยานานเป็นเดือนๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน ที่จำเป็นต้องมีการทานยาตลอดชีวิต ดังนั้นความรู้และความเข้าใจในการจัดเก็บยาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ทุกสิ่งในโลกนี้มีการเสื่อมสลายตลอดเวลา จะแตกต่างกันที่อัตราเร็วในการเสื่อมสลาย การจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้องสามารถทำให้เกิดการเสื่อมสลาย (degradation) ของตัวยาสำคัญ (active pharmaceutical ingredients) ไวขึ้น เนื่องจากปัจจัยทางด้านสภาวะแวดล้อม ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ สารเคมี แสงแดดฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มีผลในการเกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญได้ทั้งสิ้น การเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญส่งผลให้ปริมาณตัวยาสำคัญต่อยาหนึ่งเม็ดลดลง ซึ่งเมื่อเราทานยาเข้าไปจะทำให้ระดับยาในเลือดไม่ถึงระดับที่มีผลต่อการรักษาโรค …โรคก็จะไม่หาย
การเสื่อมสลายจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากตัวยาสำคัญหรือสารช่วยในตำรับ (excipients) ซึ่งอาจส่งผลก่อให้เกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ยกตัวอย่างเช่น ยาแอสไพริน (aspirin) เป็นยาที่มีการใช้มากในผู้ป่วยโรคหัวใจเพื่อต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด การเก็บรักษายาแอสไพรินจำเป็นต้องระวังความชื้นเนื่องจากความชื้นทำให้ยาดังกล่าวสลายตัวเป็นกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) และกรดอะซิติก (acetic acid) การรับประทานกรดซาลิไซลิกนั้นไม่มีผลต่อการต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด (ผลการรักษา) ซ้ำยังมีอันตรายต่อร่างกายเมื่อได้รับเข้าไปในปริมาณที่สูงๆ เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของยาแอสไพริน คือ เราสามารถสังเกตการสลายตัวของยาแอสไพรินได้ด้วยการดม!! หากดมเม็ดยาแล้วพบว่ามีกลิ่นเปรี้ยวเหมือนน้ำส้มสายชูซึ่งกลิ่นที่ว่าก็คือกลิ่นของกรดอะซิติกนั่นเอง หากยาแอสไพรินมีการสลายตัวเยอะ เราก็จะได้กลิ่นของน้ำส้มสายชูที่ฉุนมาก การเสื่อมของยาที่สามารถสังเกตได้อีกตัวอย่างคือยาเม็ดวิตามินซีที่เมื่อเกิดการเสื่อมสลายจะเกิดเป็นจุดด่างสีน้ำตาลขึ้นบนเม็ดยา “แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากเป็นยาอื่นที่เราไม่สามารถสังเกตการสลายตัวด้วยประสาทสัมผัสของเราเองละครับ?
การแบ่งยาออกจากกระปุกยาขวดใหญ่หรือการแกะยาออกจากแผงยาเพื่อนำไปใส่ในกล่องยาหรือตลับยาเล็กๆ เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วย/ผู้ใช้ยาในการเก็บรักษาและพกพาไปนอกบ้านระหว่างวัน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารยาแก่ผู้ป่วยในกรณีที่ตลับยามีการระบุวันหรือมื้ออาหารที่ต้องรับประทานยาไว้เพื่อกันลืม อย่างไรก็ตามเภสัชกร ผู้ป่วย ผู้จัดยา หรือผู้ใช้ยา ควรมีความรู้ในการจัดเก็บหรือแบ่งบรรจุยาโดยเลือกภาชนะที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญได้

คำแนะนำในการจัดเก็บหรือแบ่งบรรจุยา

  1. ไม่ควรแกะยาที่บรรจุในแผงหรือแบ่งออกจากภาชนะ เช่น กระปุกยาหรือขวดยาที่ทางผู้ผลิตได้บรรจุมาไว้แต่แรกเพราะประเภทบรรจุภัณฑ์เริ่มแรกนั้นจะได้ตามมาตรฐานที่ตำรายาระบุไว้ (จะกล่าวถึงชนิดของภาชนะบรรจุยาที่ระบุในตำรายา(ตำราที่ว่าด้วยยาที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญและใช้อ้างอิงทางเภสัชศาสตร์) ต่อไป)
  2. หากมีความจำเป็นที่ต้องแกะยาออกจากแผงหรือแบ่งออกจากกระปุกใหญ่
    • ในกรณีที่เป็นแผงยา อาจจะทำการตัดแบ่งแผงยาออกเป็นขนาดย่อยๆ และบรรจุลงในกล่อง ซองหรือตลับยาที่จัดเตรียมไว้ โดยขอบแผงยาที่ตัดแล้วจะต้องไม่มีส่วนใดฉีกขาดหรือมีรูรั่วทะลุถึงส่วนในที่บรรจุยาเม็ดในแผง
    • ในกรณีแบ่งยาออกจากกระปุกใหญ่หรือแกะยาออกจากแผงลงในภาชนะบรรจุใหม่ให้เลือกพิจารณาภาชนะที่ปิดแน่น (Tight)ในการจัดเก็บเป็นลำดับแรก และควรมีคุณสมบัติที่กันแสงได้ หากไม่มีและจำเป็นต้องแบ่งยาลงในภาชนะบรรจุประเภทปิดสนิท เช่น ซองยา กล่องยาหรือตลับยา จะต้องปิดภาชนะให้สนิทเสมอและไม่ควรแบ่งยาเพื่อรับประทานเกิน 1 อาทิตย์(ระยะเวลาอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ตามความคงตัวของตัวยา)
  3. ต้องสังเกตลักษณะกายภาพของยาที่รับประทาน หากพบว่าเม็ดยามีลักษณะที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยทาน ควรงดทานยาดังกล่าวและปรึกษาเภสัชกร
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ฐานข้อมูลทะเบียนตำรับยา สำนักยา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. Available from: http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug/DSerch.asp
  2. Head KA. Natural approaches to prevention and treatment of infections of the lower urinary tract. Altern Med Rev. 2008;13(3):227-244.
  3. Srinivasan K. Biological activities of pepper alkaloids. In: Natural products. Ramawat KG and Me´rillon JM, eds. New York: Springer-Verlag Berlin Heidelberg; 2013:1397-1437.
  4. Gemmill CL. The pharmacology of squill. Bull N Y Acad Med. 1974;50(6):747-750.
  5. Butler AR, Feelisch M. Therapeutic uses of inorganic nitrite and nitrate: from the past to the future. Circulation. 2008;117(16):2151-2159.
  6. Ginimuge PR, Jyothi SD. Methylene blue: revisited. J Anaesthesiol Clin Pharmacol. 2010;26(4):517-520.
-->

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

เด็กกับมือถือ อันตรายหรือไม่? 1 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 4 วินาทีที่แล้ว
กัญชากับการรักษาโรค 5 วินาทีที่แล้ว
อาหารเป็นพิษ ... 5 คำถามที่พบบ่อย 5 วินาทีที่แล้ว
ออกกำลังกายอย่างไรดี ? 7 วินาทีที่แล้ว
ยาที่ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 วินาทีที่แล้ว
ผลเสียของการไม่บริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรต 8 วินาทีที่แล้ว
วัตถุกันเสียในไส้กรอก แฮม และโบโลน่า 1 นาทีที่แล้ว
ยาคลายเครียดกับภาระกิจช่วยเหลือหมูป่าติดถ้ำ 1 นาทีที่แล้ว
ข้อควรรู้เบื้องต้นเรื่อง “แอนติเจน เทสต์ คิท” เพื่อคัดกรองโรคโควิด-19 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล