Loading…

ความรู้เรื่องวัคซีน HPV (Human Papilomavirus Vaccine)

ความรู้เรื่องวัคซีน HPV (Human Papilomavirus Vaccine)
รองศาสตราจารย์ ดร.ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
124,923 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว
2013-10-13
อุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งในประเทศไทย พบมะเร็งปากมดลูกสูงเป็นอันดับสอง (รองจากมะเร็งเต้านม) คือ 19.8 คน ต่อแสนประชากรหญิง หรือในประชากรหญิงทุกห้าพันคนจะพบหนึ่งคนที่เป็นมะเร็งปากมดลูก โดยมี Human Papilomavirus หรือ HPV เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสายพันธุ์ของ HPV ที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยประมาณร้อยละ 70-75 คือสายพันธุ์ 16 และ 18 เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV สองสายพันธุ์นี้
ในขณะนี้วัคซีน HPV มี 2 ชนิด คือ Quadrivalent vaccine (ชนิดไวรัส 4 สายพันธุ์ คือ 6, 11, 16 และ 18) และ Bivalent vaccine (ชนิดไวรัส 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18) แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เกิดจากสองสายพันธุ์ นั่นคือ สายพันธุ์ 16 และ18 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 70 ดังนั้นสำหรับการเลือกวัคซีนเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกจึงสามารถเลือกใช้ได้ทั้งสองชนิด ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ18 ได้ประมาณร้อยละ 90-100 ในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อแล้ววัคซีนไม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคได้
ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ส่วนระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนยังคงต้องติดตามผลต่อไป เนื่องจากวัคซีนยังไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนยาวเกินกว่า 10 ปี และเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน HPV ควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อ HPV นั่นคือ ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 – 26 ปี
ข้อควรระวัง
วัคซีนไม่แนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ และไม่ควรฉีดในผู้ที่แพ้วัคซีนและส่วนประกอบในวัคซีน
อาการข้างเคียง
สามารถพบอาการปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีดวัคซีนและอาจมีไข้ได้
ความคุ้มค่า
วัคซีน HPV สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ แต่เนื่องจากวัคซีนมีราคาค่อนข้างสูง (เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆที่ใช้ในการป้องกันโรค) ดังนั้น การเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละบุคคลด้วย
ข้อควรรู้
  1. วัคซีน HPV มีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ HPV เฉพาะสายพันธุ์ที่ทำวัคซีนเท่านั้น ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ อาจป้องกันได้บ้าง
  2. ผลในการป้องกันการติดเชื้อจะได้ผลเต็มที่ต่อเมื่อยังไม่เคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อน
  3. ถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันแล้ว แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องการการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Grabenstein John D. ImmunoFacts : Vaccines and Immunologic Drugs-2010. St. Louis, Mo.: Wolters Kluwer Health; 2009.
  2. HPV and Cancer. National Cancer Institute; [cited 2013 June 9]; Available from: http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/HPV#r6.
  3. Human Papillomavirus (HPV) Vaccines. National Cancer Institute; [cited 2013 June 9]; Available from: http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Prevention/HPV-vaccine.
  4. วัคซีน : การวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค. จรุง เมืองชนะ, สมฤดี จันทร์ฉวี, บรรณาธิการ. นนทบุรี: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2555.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ยาใหม่สำหรับรักษาโรคไมเกรน 2 วินาทีที่แล้ว
รูปแบบยา...มีกี่แบบ...ใช้อย่างไร 4 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้หวัดสำหรับเด็ก 4 วินาทีที่แล้ว
จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้ 4 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 15 วินาทีที่แล้ว
สารพิษจากเชื้อรา อันตรายที่มองไม่เห็น 15 วินาทีที่แล้ว
กลิ่นตัว วิธีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น 17 วินาทีที่แล้ว
กินเร็วเสี่ยงเป็นโรคอ้วน 17 วินาทีที่แล้ว
ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองสำหรับสตรีวัยทอง (menopause) 20 วินาทีที่แล้ว
ตรวจเลือดกับการตรวจร่างกายประจำปี 21 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล