Loading…

อโรมาเธอราพี (Aromatherapy)

อโรมาเธอราพี (Aromatherapy)
รองศาสตราจารย์ ดร. อ้อมบุญ วัลลิสุต ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
87,866 ครั้ง เมื่อ 1 วันที่แล้ว
2014-09-29
อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือ สุคนธบำบัด คือ ศาสตร์ในการใช้น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดพืชหอม (ขอย้ำว่าต้องเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดจากพืชเท่านั้น) เพื่อการบำบัดรักษาหลายอาการ ตั้งแต่ อาการติดเชื้อต่างๆ โรคผิวหนัง ไปจนถึงภูมิคุ้มกันบกพร่องและความเครียด มีการใช้น้ำมันหอมระเหยในยุโรปมากว่าร้อยปี และมีการใช้ในการแพทย์ตะวันออกมานานกว่าพันปี แต่ในประเทศฝรั่งเศสมีการ ใช้สุคนธบำบัดทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ และมีการวิจัยกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกในทุกๆ ด้าน ส่วนสหรัฐอเมริกานิยมใช้สุคนธบำบัดร่วมกับการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ในการรักษาโรคต่างๆ
ในประเทศไทยก็มีการใช้แบบพื้นบ้านเช่น การเข้ากระโจมแก้หวัด ผู้เขียนจำได้ว่าตอนเป็นเด็กเล็กเมื่อเป็นหวัดคุณแม่จะให้นั่งอยู่หน้ากาละมังเคลือบที่มีสมุนไพรเปราะหอม หอมแดง ใบมะขาม และเทน้ำเดือดลงไปพร้อมกับเอาผ้าเช็ดตัวคลุมโปงครอบไว้ทั้งตัว ไอหอมระเหยเข้าจมูกเข้าไปบำบัดอาการหวัด สักพักเมื่อน้ำพออุ่นๆ คุณแม่ก็จะเอาน้ำนั้นรดศีรษะไล่หวัดอีกรอบ เป็นอันว่าไปโรงเรียนได้ อดหยุดอยู่กับบ้าน ความรู้ติดตัวนี้ได้เอาไปใช้เมื่อผู้เขียนได้ไปทำงานที่ประเทศภูฏานแล้วเกิดเป็นไข้หวัดอย่างแรง โดยตื่นขึ้นมากลางดึกมีอาการปวดหัวมาก มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว หายใจไม่สะดวก ถ้าเป็นประเทศไทยก็ไปโรงพยาบาล หรือ ให้ลูกดูแล แต่ที่นี่ภูฏาน แถมพาราเซตามอลก็หมด ยาสมุนไพรแก้หวัดก็หมดเพราะใจดีแจกคนอื่นด้วย เลยเข้าครัว โชคดีที่เปราะหอมก็เป็นเครื่องเทศอย่างหนึ่งและเคยซื้อไว้ แต่ไม่มีหอมแดงใช้หอมฝรั่งแทน ใบมะขามหาไม่ได้ แต่สองอย่างนี้ก็เพียงพอที่จะขจัดอาการทั้งหมดนี้ได้และกลับไปนอนพักต่อ ไปทำงานวันรุ่งขึ้นได้ ยังมีอีกมากมายที่เราใช้สืบต่อกันมา ใครจะแบ่งปันก็ขอขอบคุณล่วงหน้า
แม้แต่การแพทย์แผนปัจจุบันก็มีการใช้ทิงเจอร์กำยาน (Benzoin Tincture) มีขายที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งคุณพ่อของผู้เขียนใช้ในการรมจมูกเพราะท่านเป็นไซนัสอักเสบ และผู้เขียนก็ใช้เป็นประจำเมื่อมีอาการหวัดคัดจมูกร่วมกับการรมเปราะหอมและหัวหอม วิธีการใช้คือ หากระป๋องผลไม้ขนาดเท่าแก้วกาแฟซึ่งเป็นกระป๋องอลูมิเนียมเคลือบด้านใน ทำกรวยขนาดพอดีครอบปากกระป๋อง ใช้กระดาษแข็งพอม้วนได้ ตัดปลายแหลมให้มีช่องพอให้ไอระเหยออกมาได้ ต้มน้ำเดือดจัดเทลงในกระป๋อง สัก 3/4 กระป๋อง เททิงเจอร์กำยานลงไปประมาณ 5 ซีซี หรือหนึ่งช้อนชา รีบเอากรวยครอบ และเอาจมูกไปสูดดมที่ช่อง ระวังไอร้อนลวกจมูกจากการสูดดมใกล้เกินไป ควรใช้หลังมือสัมผัสไอที่ระเหยออกมาก่อนว่าร้อนไปหรือไม่และระยะห่างแค่ไหนจึงพอดี เราต้องการกลิ่นหอมไม่ใช่ความร้อน เมื่อเย็นลงจะสามารถสูดดมได้ใกล้ขึ้นๆ เมื่อไม่มีไอระเหยออกมาแล้ว เทน้ำทิ้งแล้วสูดดมสารหอมที่เหลือติดก้นกระป๋องทำให้หายใจโล่ง กระป๋องนี้เก็บไว้ใช้ได้อีกไม่ต้องล้าง เพราะกำยานใช้เป็นยากันบูดในยาไทยและเครื่องสำอาง ถ้าอยากล้างต้องใช้แอลกอฮอลละลายสารเรซินที่ติดอยู่ออกไปก่อนจึงล้างตามปกติได้
ในด้านวิทยาศาสตร์ อโรมาเธอราพี เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของ Herbal Medicine เพราะเป็นการใช้น้ำมันหอมระเหย (essential oil) ที่ได้จากการกลั่นพืชหอม หรือ ด้วยการสกัดด้วยวิธีต่างๆ โดยน้ำมัน (essence) ของพืชเหล่านี้มีคุณสมบัติในการรักษา ส่วนของพืชอาจจะเป็น ดอก ใบ กิ่ง เปลือก แก่น ยาง ผล หรือ เมล็ดก็ได้ แต่เนื่องจากมีปริมาณน้อยจึงต้องใช้วัตถุดิบพืชจำนวนมาก และส่งผลให้มีราคาแพง จึงมีการใช้กลิ่นสังเคราะห์ปนปลอม จึงขอเตือนว่าผู้ที่ต้องการผลบำบัดต้องใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืชเท่านั้น ที่จริงแล้วส่วนที่ทำการบำบัดคือร่างกายเราเอง แต่โมเลกุลเล็กๆ หลายๆ โมเลกุลในน้ำมันหอมระเหยเข้าสู่สมองของเราผ่านประสาทรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูกด้านบน ซึ่งส่วนนี้ใกล้สมองมาก และทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางเภสัชวิทยาของร่างกายมนุษย์
ในน้ำมันหอมระเหยมีโมเลกุลเล็กๆ นับร้อยโมเลกุล และทุกๆ โมเลกุลล้วนมีผลต่อการบำบัดรักษา มิใช่แต่เพียงสารที่มีมากเท่านั้น น้ำมันหอมระเหยหลายๆ ชนิดมีส่วนประกอบที่คล้ายๆ กัน อาจต่างกันบ้างในบางโมเลกุลและสัดส่วน แต่ให้ผลการรักษาที่ต่างกัน รวมทั้งกลิ่นซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงกับพืชแต่ละชนิด (essence) เช่น กลิ่นมะลิ ก็จะไม่พบในดอกกุหลาบ เป็นต้น
ผลต่อร่างกาย (Physiological Effects) ของน้ำมันหอมระเหย เกิดเมื่อโมเลกุลเล็กๆ นับร้อยเหล่านี้ไปถึงสมองส่วนลิมบิค (limbic system) ซึ่งควบคุมอารมณ์และความรู้สึกโดยจะมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์และความจำ และเนื่องจากสมองส่วนนี้เชื่อมต่อโดยตรงกับสมองที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ ความดัน การหายใจ ความจำ ระดับความเครียด สมดุลย์ฮอร์โมน ดังนั้นการสูดดมน้ำมันหอมระเหยจึงเป็นวิธีที่ให้ผลทางร่างกายและระบบประสาทที่เร็วที่สุดทางหนึ่ง เพราะหลังจากการสูดดมน้ำมันหอมระเหยจะเข้าสู่กระแสเลือดโดยทางเนื้อเยื่อของปอด และจากระบบประสาทรับกลิ่นจะไปมีผลต่อสมองส่วนต่างๆ เช่น สมองส่วนคอร์เท็กซ์ มีผลต่อการเรียนรู้ (intellectual process) ต่อมพิทิวทอรี (pituitary gland) ซึ่งควบคุมระบบฮอร์โมนทั้งหมด รวมทั้งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต และสมองส่วนไฮโปธาลามัสซึ่งควบคุมความโกรธและความรุนแรง
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. เฉลิมชัย สมมุ่ง วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์ ไม้กฤษณา (ไม้หอม) แก้ปัญหาความยากจนของคนไทย บริษัท ดาต้า เปเปอร์ แอนด์ พริ้นท์ จำกัด กรุงเทพฯ
-->

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ฝุ่น PM 2.5 จิ๋ว แต่ไม่จบ 1 วินาทีที่แล้ว
เมล็ดเจีย/เมล็ดเชีย (Chia seed) ลดน้ำหนักได้ ? 2 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 5 วินาทีที่แล้ว
ลำไย...คุณค่าที่มากกว่าความหวาน 6 วินาทีที่แล้ว
ทำความรู้จักกับอินูลิน (Inulin) และประโยชน์ของอินูลินต่อสุขภาพ 7 วินาทีที่แล้ว
ชาเขียว ( Green Tea )... ดื่มอย่างไรให้ได้ประโยชน์ 10 วินาทีที่แล้ว
สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers) 10 วินาทีที่แล้ว
เจนเอ็กซ์ เจนวาย เจนแซด คืออะไร 12 วินาทีที่แล้ว
ยารักษาสิว isotretinoin อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม 15 วินาทีที่แล้ว
ยาเลื่อนประจำเดือน .. ที่นี่มีคำตอบ 19 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล