Loading…

แก้วมังกร

แก้วมังกร

ภญ. กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

148,872 ครั้ง เมื่อ 9 นาทีที่แล้ว
2016-11-09

ในวันที่อากาศขมุกขมัวชวนให้เหล่าพ่อบ้านใจกล้ารำคาญใจ เนื่องจากไม่รู้ว่าควรจะตากผ้าดีหรือไม่เพราะเดาใจฝนฟ้าไม่ถูก อัครเดชและพรประภาสองเพื่อนซี้กำลังทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ก้มๆ เงยๆ มองวัตถุทรงกลม รูปร่างประหลาด สีชมพู แถมมีเกล็ดสีเขียวอยู่รอบๆ อีกต่างหาก พลันเพื่อนซี้อีกคนที่เพิ่งเดินเข้ามาเห็นเพื่อนรักทั้งสองทำท่าทางแปลกๆ จึงเดินเข้าไปถามด้วยความสงสัย... 
 
สมเกียรติ: ทำอะไรกันอยู่เหรอพวกนาย? 
อัครเดช: อ้าวสมเกียรติ...มาดูนี่สิ ลูกอะไรก็ไม่รู้ หน้าตาประหลาดจัง 
สมเกียรติ: ไหนๆ...อ๋อ นี่มันลูกแก้วมังกรที่... 
พรประภา: หา!! ที่ถ้ามีครบ 7 ลูกแล้วจะมีมังกรออกมาให้พรอะเหรอ? 
สมเกียรติ: เฮ้ย!! 
อัครเดช: จริงดิ!! งั้นเราไปตามหาอีก 6 ลูกกันเถอะจะได้ขอพร 
สมเกียรติ: เดี๋ยวๆ 
พรประภา: ดีเลย ฉันจะขอให้ผอมสวย อิอิ สมเกียรติ: คือไม่… 
อัครเดช: ส่วนฉันจะขอให้เป็นคนแข็งแรงปราศจากโรค 
สมเกียรติ: โอ๊ยยย!!! ไม่ใช่ๆ ฟังก่อนดิ ฮ่วย!!! 
แก้วมังกร หรือ Dragon fruit เป็นผลของต้นไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hylocereus undatus (Haw.) (เนื้อสีขาว เปลือกสีแดงอมชมพู) หรือ H. polyrhizus (Weber) Britt. & Rose (เนื้อสีแดงเข้มอมม่วง และเปลือกสีแดงอมชมพู) ซึ่งเป็นพืชในวงศ์กระบองเพชร (CACTACEAE) มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโกและประเทศใกล้เคียง และในประเทศไทยมีการปลูกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ซึ่งในระยะแรกผลที่ได้มีรสชาติไม่ค่อยอร่อย แต่ในเวลาต่อมาก็ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้มีรสชาติที่ดียิ่งขึ้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของแก้วมังกรคือมีลำต้นเป็นปล้องสามเหลี่ยมแยกเป็น 3 แฉก มีลักษณะอวบน้ำ สีเขียวเข้มปนเทา ซึ่งเป็นส่วนของใบที่เปลี่ยนรูปร่างไป ส่วนลำต้นที่แท้จริงอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของแฉกทั้ง 3 ที่ลำต้นด้านนอกมีหนามเป็นกลุ่มๆ มีรากทั้งในดินและรากอากาศ ดอกของแก้วมังกรเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก มีก้านเกสรเพศเมีย 1 อัน ส่วนของกลีบดอกจะอยู่ด้านบนของรังไข่ เมื่อบานมีลักษณะคล้ายปากแตร โดยจะบานในช่วงหัวค่ำจนถึงเช้า มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลแก้วมังกรเป็นทรงกลม มีเนื้อหลายเมล็ด (berry) ที่ผลมีกลีบ ภายในผลเมื่อผ่าออกจะมีเนื้อสีขาวขุ่น ชมพู แดง หรือแดงอมม่วง (แล้วแต่ชนิด) เมล็ดมีขนาดเล็กสีดำ ลักษณะคล้ายเมล็ดงา 
สารสำคัญที่พบในแก้วมังกรคือสารในกลุ่ม betalains โดยจะพบทั้งในส่วนเปลือกและในเนื้อผลที่มีสีแดงหรือแดง-ม่วง ในทางอุตสาหกรรมนิยมนำสารกลุ่มดังกล่าวมาทำเป็นสีผสมอาหารเพราะมีความปลอดภัยสูง แก้วมังกรเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ (ประมาณ 50 - 60 กิโลแคลอรี/100 ก.) น้ำตาลที่พบส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ในเนื้อของแก้วมังกรมีวิตามินซี ใยอาหาร และโพแทสเซียมสูง โดยวิตามินซีมีส่วนช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ใยอาหารช่วยให้รู้สึกอิ่มนาน และทำให้การขับถ่ายดีขึ้น จึงน่าจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือควบคุมน้ำหนัก แต่อาจต้องระมัดระวังในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือผู้ที่ต้องควบคุมระดับโพแทสเซียมในเลือด เนื่องจากผลไม้ชนิดนี้มีโพแทสเซียมสูง นอกจากนี้ยังพบสารในกลุ่มโอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก กระตุ้นการเจริญเติบโตของโปรไบโอติกในลำไส้ ช่วยในเรื่องการขับถ่าย และในเมล็ดของแก้วมังกรยังอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็นซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย การรับประทานผลแก้วมังกรที่มีเนื้อสีแดงเข้มหรือสีแดงเข้มอมม่วง อาจทำให้อุจจาระหรือปัสสาวะมีสีแดงคล้ายกับมีเลือดปนออกมา หรือที่เรียกว่าภาวะสีเลือดเทียมในปัสสาวะ (pseudohematuria) เนื่องจากในเนื้อของแก้วมังกรมีสารกลุ่ม betalains ที่มีสีแดง จึงทำให้อุจจาระหรือปัสสาวะมีสีแดง แต่สารดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการด้วย 
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองพบว่าแก้วมังกรมีฤทธิ์ต้านจุลชีพก่อโรคหลายชนิด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ ลดไขมันในเลือด ต้านภาวะเบาหวาน ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และช่วยปกป้องตับจากสารพิษ สำหรับการศึกษาทางคลินิกยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งพบว่าการบริโภคแก้วมังกรจะทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดลดลง ในส่วนของการศึกษาความเป็นพิษพบว่าเนื้อผลของแก้วมังกร รวมทั้งสารสำคัญอย่าง betalains มีความปลอดภัยสูง และถึงแม้จะไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานแก้วมังกร แต่ควรระมัดระวังการบริโภคในผู้ที่มีประวัติการแพ้พืชในตระกูลกระบองเพชรและกีวี เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ 
แม้ว่าแก้วมังกรที่ว่านี้จะไม่สามารถดลบันดาลอะไรให้ได้ แต่การรับประทานเนื้อผลของแก้วมังกรที่เป็นผลไม้ก็ให้ประโยชน์กับร่างกายมากมาย เพราะแก้วมังกรมีวิตามินหลายชนิด และมีใยอาหารที่ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ดีในการลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดด้วย แต่อาจต้องระมัดระวังในคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ โรคไต และคนมีประวัติการแพ้พืชดังกล่าว ดังนั้นถ้าอยากผอม สวย สุขภาพดี ไม่ต้องรอให้ใครมาดลบันดาลหรอกค่ะ เริ่มที่ตัวเรานี่ล่ะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งแก้วมังกรก็นับเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ก็ควรรับประทานในขนาดที่พอดี และต้องรับประทานอาหารให้หลากหลายด้วยนะคะ 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 
จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 33 ฉบับที่ 4

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Barrangou, Rodolphe, and Jennifer A Doudna. 2016. "Applications of CRISPR Technologies in Research and beyond." Nature Biotechnology 34(9): 933–41. http://www.nature.com/doifinder/10.1038/nbt.3659
  2. "CRISPR-Cas9 Based Therapeutics: Not So Fast." 2015. EBioMedicine 2(5): 365.
  3. Lander, Eric S. 2016. “The Heroes of CRISPR.” Cell 164(1–2): 18–28. http://dx.doi.org/10.1016/j.cell.2015.12.041

-->

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

กระชายดำกับสมรรถภาพทางเพศชาย 3 วินาทีที่แล้ว
วัคซีนโควิด-19 ให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคเพียงใด? 8 วินาทีที่แล้ว
บัวตอง ... ดอกไม้บนยอดดอย 10 วินาทีที่แล้ว
การดูแลช่องปาก และความรู้เรื่องยาสีฟัน 11 วินาทีที่แล้ว
การลดสารตกค้างในผักและผลไม้ 12 วินาทีที่แล้ว
ยาทาภายนอกรักษาโรคเชื้อรา : ยารักษากลากและเกลื้อน 13 วินาทีที่แล้ว
น้ำมันหอมระเหยไล่แมลงสาบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1 นาทีที่แล้ว
ยากับวัคซีนโควิด-19 : มีผลกระทบต่อกันอย่างไร? 1 นาทีที่แล้ว
การใช้สมุนไพร อายุรเวท รักษามะเร็ง 1 นาทีที่แล้ว
ความเครียด และวิธีแก้ความเครียด 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา