Loading…

กล่องโฟมบรรจุอาหาร อันตรายอย่ามองข้าม

กล่องโฟมบรรจุอาหาร อันตรายอย่ามองข้าม
น.ส.พรรณพิสุทธิ์ สันติภราดร นักวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
101,893 ครั้ง เมื่อ 24 นาทีที่แล้ว
2016-05-25

ในยุคสมัยที่คนเราเร่งรีบ รักความสะดวกสบาย หลายคนคงเคยชินกับการรับประทานอาหารกล่อง อาหารสำเร็จรูป เพราะสะดวก รวดเร็ว ประหยัด หาซื้อได้ง่าย โดยลืมคำนึงถึงสุขภาพ และด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงขึ้น ทำให้พ่อค้าแม่ขายต้องปรับตัวหาวิถีทางที่จะลดต้นทุน เพื่อให้ได้กำไรที่มากขึ้น อีกทั้งคนส่วนใหญ่ เน้น “อิ่ม-ถูก-เร็ว” ส่งผลให้อาหารประเภทข้าวกล่องแกงถุง กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆที่ผู้คนให้ความสนใจในชีวิตประจำวัน โดยละเลยอันตรายของสุขภาพที่แฝงมากับวัสดุที่ใช้บรรจุอาหาร ภาพจาก : http://waymagazine.org/โฟม-กล่องฆ่าคน/
โฟมเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้บรรจุอาหารผลิตมาจากวัสดุพอลิเมอร์ชนิดพอลิสไตรีน(polystyrene) เมื่อนำมาใช้บรรจุอาหารร้อนและอาหารทอด น้ำมันจากอาหารจะเกิดปฏิกิริยากับโฟม ทำให้เกิดสารอันตรายปะปนออกมากับอาหาร สารเหล่านี้ ได้แก่ สารสไตรีน (styrene) และสารเบนซิน (benzene) สารสไตรีนที่เกิดขึ้นจะมีผลเสียต่อร่างกาย คือ ทำลายระบบฮอร์โมนในร่างกาย มีผลต่อระบบประสาท เม็ดเลือดแดง ตับและไต เมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาหรือสูดดมเข้าไป ทำให้เยื่อเมือกเกิดการระคายเคือง มีอาการไอและหายใจลำบาก ปวดศีรษะ ง่วงซึม สำหรับสารเบนซิน จัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้สูดดมหรือรับประทานเข้าไป ในระยะแรกทำให้วิงเวียน คลื่นไส้หรือมีอาการปวดท้อง เนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศีรษะ อาเจียน ง่วงนอน ชัก หัวใจเต้นแรงและอาจเสียชีวิตได้ การได้รับสารเบนซินเป็นเวลานานจะมีผลทำให้โลหิตจาง (Anemia) เนื่องจากสารเบนซินจะเข้าไปทำลายไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลงและทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 275 (พ.ศ. 2548) เรื่อง กำหนดคุณภาพมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ซึ่งได้กำหนดปริมาณ สารสไตรีนในภาชนะบรรจุอาหาร โดยให้มีได้ไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (กรณีใช้งานที่อุณหภูมิสูงกว่า 100 องศาเซลเซียส ปริมาณสารสไตรีนต้องไม่เกินเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) มีการจัดทำโครงการรณรงค์ ลด ละ เลิกการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากนัก ร้านอาหารตามสั่งทั่วไปก็ยังคงใช้กล่องโฟมในการบรรจุอาหาร เนื่องจากมีน้ำหนักเบา เป็นฉนวนทนความร้อน ใช้ง่ายและราคาถูก ดังนั้นผู้บริโภคต้องตระหนักและดูแลสุขภาพของตนเอง โดยหยุดบริโภคอาหารจากร้านค้าที่ผู้ประกอบการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร แล้วหันมาบริโภคอาหารที่บรรจุในภาชนะทดแทนโฟมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย เยื่อไผ่ มันสำปะหลัง ซึ่งทนต่อความร้อน ใช้กับอาหารที่มีไขมัน และอุ่นอาหารในไมโครเวฟได้ ย่อยสลายเร็วภายใน45 วันก็ย่อยสลายหมดแล้ว แตกต่างจากโฟมที่ต้องใช้เวลามากกว่า450ปี จึงจะย่อยสลายได้หมด หรือใช้ปิ่นโตใส่อาหาร ซึ่งอาจไม่สะดวกในการพกพาแต่สามารถล้างทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้

"รักษ์โลก รักสุขภาพ หยุดใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร"


แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.npc-se.co.th/npc_date/npc_previews.asp?id_head=5&id_sub=7&id=282
  2. http://www2.pattani.go.th/web/files/PDF/News2/03051601.pdf
  3. http://www.fda.moph.go.th/news57/psiond/GHS.pdf
  4. http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=69
  5. http://www.wtg.co.th/index.php/th/news/knowledge-insulated-sandwich-panel/137-what-is-polystyrene-or-ps.html
  6. http://www.science.navy.mi.th/download/Styrene.pdf
  7. href="http://www.thaiemsinfo.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=249&auto_id=6&

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

การใช้สมุนไพร อายุรเวท รักษามะเร็ง 9 วินาทีที่แล้ว
การใช้ยาในหญิงมีครรภ์ : ข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์ 1 นาทีที่แล้ว
สูงวัยอย่างมีคุณภาพด้วยการออกกำลังกาย 1 นาทีที่แล้ว
ไม้ประดับมีพิษ….คิดสักนิดก่อนจะปลูก 1 นาทีที่แล้ว
ชาร้อน ชาเย็น ประโยชน์/โทษ ต่อสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว
ปลอดภัยหรือไม่ เมื่อใช้สเตียรอยด์ (steroid) 1 นาทีที่แล้ว
ความเครียด และวิธีแก้ความเครียด 1 นาทีที่แล้ว
การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 1 นาทีที่แล้ว
ไตวายระยะสุดท้าย ... การรักษาแบบประคับประคอง 1 นาทีที่แล้ว
ปัญหาการคัดเลือกยาชีววัตถุในศตวรรษที่ 21 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา