Loading…

ชาร้อน ชาเย็น ประโยชน์/โทษ ต่อสุขภาพ

ชาร้อน ชาเย็น ประโยชน์/โทษ ต่อสุขภาพ

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

260,631 ครั้ง เมื่อ 1 นาทีที่แล้ว
2016-09-14


เครื่องดื่มประเภทน้ำชามีมาช้านานกว่า 4700 ปี นอกเหนือจากการเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย แก้ง่วง ยังพบว่าสามารถแก้สารพัดโรคได้อีกด้วย เช่น ต้านอนุมูลอิสสระที่เกิดขึ้นภายในเซลของร่างกาย ต้านอาการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ ป้องกันตับจากสารพิษ และโรคอื่นๆอีกมากมายที่เกิดจากอนุมูลอิสสระ อย่างไรก็ตาม การที่เครื่องดื่มชาให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เนื่องจากมีองค์ประกอบของสารสำคัญในใบชาที่เรียกว่า แทนนิน หรือ ทีโพลีฟีนอล (Tea polyphenols) สารสำคัญกลุ่มนี้พบมากในพืชเกือบทุกชนิด แต่ละชนิดอาจจะมีโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกันไป สารแทนนินในใบชาสดหรือชาเขียวที่มีฤทธิ์ทางยาที่สำคัญได้แก่สารกลุ่มที่ชื่อว่า คาเทคชินส์ (catechins) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านโรคภัยได้มากมายหากดื่มเป็นประจำ แต่สารสำคัญจากใบชามักจะสลายตัวได้ง่ายและรวดเร็วเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศและความร้อน ดังนั้นเราลองมาพิจารณาดูว่าวิธีการชงชาหรือเครื่องดื่มชาแบบไหนที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด หรือแบบไหนจะได้ประโยชน์น้อยที่สุด หรือไม่ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเลย หรือในทางตรงกันข้ามมีผลเสียต่อร่างกายก็เป็นไปได้ 

  1. สำหรับผู้ที่นิยมดื่มน้ำชาร้อนๆ สารสำคัญที่เป็นประโยชน์คือ ‘คาเทคชินส์’ (Catechins) จะถูกความร้อนทำลายไปเกือบหมด คงเหลือแต่ความหอมและรสชาด ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายแต่ยังนิยมชาร้อนๆ ควรดื่มน้ำชาที่เข้มข้น เช่นเดียวกับคนจีนแต้จิ๋ว ที่นิยมชงชาจีนรสเข้มข้นในถ้วยชาใบจิ๋วคล้ายกับการดื่มกาแฟเอ็กซ์เพรซโซ่ ความเข้มข้นของใบชาจะทำให้มีปริมาณสารคาเทคชินส์ที่เข้มข้น และแม้ว่าสารเหล่านี้จะสลายตัวไปบางส่วนเมื่อโดนความร้อนจากน้ำร้อน แต่จะยังคงมีบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ ที่พอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง
  2. ชาเขียวหรือสารสกัดจากใบชาสด หากนำมาเตรียมเป็นเครื่องดื่มแช่เย็น ความเย็นจะช่วยรักษาคุณค่าของสารสำคัญในใบชาไว้ได้ดี อย่างไรก็ตามหากขบวนการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวที่ต้องผ่านขบวนการต้มหรือทำให้ร้อนในขบวนการฆ่าเชื้อจุลลินทรีย์ก่อนบรรจุลงในขวด ปริมาณสารสำคัญในน้ำชาก็จะถูกทำลายหรือลดน้อยลงไปเช่นกัน
  3. การดื่มน้ำชาไม่ว่าจะชาร้อนหรือชาแช่เย็น ไม่ควรแต่งรสด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะน้ำนมสด นมข้นหรือนมผง เพราะโปรตีนในนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา และทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิธีการดื่มชาเขียวให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรดื่มน้ำชาล้วนๆไม่ควรปรุงแต่ง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบชาเย็นใส่นม จะไม่ได้ประโยชน์จากใบชาเลย
  4. ผู้ที่รับประทานวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมไปด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ในกรณีที่ดื่มน้ำชาร่วมกับการรับประทานอาหาร แร่ธาตุต่างๆจากผักใบเขียวหรือจากผลไม้ก็จะถูกสารสำคัญจากชาจับไว้หมดไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน
  5. โทษของการดื่มชาต่อร่างกายก็มีรายงานเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสำคัญคือแทนนิน ซึ่งจะไปตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆจากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลดการดูดซึมของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้นจึงมักจะมีคำแนะนำไม่ให้เด็กดื่มน้ำชา ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวแช่เย็นหรือชาร้อน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
  6. ใบชายังมีองค์ประกอบที่ให้โทษต่อร่างกายที่ยังไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มีองค์ประกอบของฟรูออไรด์ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และสูงกว่าปริมาณในน้ำประปา การที่ร่างกายได้รับเข้าไปทุกวันจากการดื่มน้ำชาเป็นประจำ จะเกิดการสะสม มีผลให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน (Osteofluorosis) โรคข้อ และโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับกระดูก แต่ผู้ที่ดื่มไม่มาก ก็คงไม่ต้องกังวล
  7. ใบชายังมีสารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีก คือ สารที่ชื่อว่า “ออกซาเรท oxalate” แม้ว่าสารชนิดนี้จะมีอยู่น้อย แต่หากผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชามากๆและดื่มบ่อยๆเป็นประจำ จะสะสมสารออกซาเรทในร่างกายได้ สารชนิดนี้มีรายงานว่ามีผลทำลายไต
  8. ใบชามีสารคาเฟอินน์ ในปริมาณสูง อาจสูงกว่าในเมล็ดกาแฟด้วยซ้ำไป เพียงแต่การดื่มน้ำชา สารแทนนินจากน้ำชาจะป้องกันหรือลดการดูดซึมของคาแฟอินน์เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจและสมองน้อยกว่ากาแฟมาก

จากที่กล่าวไปข้างต้น พอสรุปได้ว่าเครื่องดื่มชามีทั้งคุณและโทษต่อร่างกาย ขึ้นอยู่กับการบริโภค ถ้ามากเกินไปจะเป็นโทษได้ ผู้ที่นิยมนำสารสกัดจากชาเขียวไปทำสปา โดยการหมักบนใบหน้าและผิวหนัง ควรผสมกับน้ำเย็น ไม่ควรผสมน้ำนมเด็ดขาด เพราะจะไปทำลายคุณค่าของสารสกัดชาเขียวตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การนำสารสกัดชาเขียวไปผสมกับอาหารอื่นๆ หากต้องนำไปทำให้ร้อน เช่น ขนมเค้ก คุณค่าชาเขียวจะหมดไป คงเหลือแต่รสชาติเท่านั้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการนำผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสกัดชาเขียวไปผ่านขบวนการความร้อน เพื่อคงคุณค่าของชาเขียวต่อสุขภาพร่างกาย 
บทความฉบับนี้อาจทำให้ผู้บริโภคหลายคนงง เพราะเคยทราบแต่สารพัดประโยชน์ของชาเขียว แต่อ่านแล้วคงไม่ทำให้กลัวการการดื่มชา องค์ความรู้จากนักวิจัยจะช่วยให้เราระวังไม่บริโภคมากเกินไป เพราะเช่นเดียวกับทุกอย่าง ถ้ามากไปมักจะมีให้ผลเสียต่อร่างกายได้ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.thekitchn.com/does-putting-milk-in-your-tea-negate-its-health-benefits-food-news-177896
  2. https://www.healthstatus.com/health_blog/diabetes-3/milk-in-your-tea-not-a-good-idea/
  3. http://ajcn.nutrition.org/content/81/1/326S.full
  4. http://journal.frontiersin.org/article/10.3389/fphar.2016.00192/full
  5. http://www.m.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-960/green-tea
  6. http://www.teaanswers.com/side-effects-tea/

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

โรคสมาธิสั้นในเด็ก: การรักษาด้วยยา 11 วินาทีที่แล้ว
น้ำมันระเหยยากที่ใช้ในเครื่องสำอาง 16 วินาทีที่แล้ว
สารพิษจากเชื้อรา อันตรายที่มองไม่เห็น 18 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 18 วินาทีที่แล้ว
การใช้สมุนไพร อายุรเวท รักษามะเร็ง 28 วินาทีที่แล้ว
การแพ้อาหารในเด็ก.........ข้อมูลสรุปสำหรับพ่อแม่มือใหม่ 40 วินาทีที่แล้ว
ผลิตภัณฑ์เสริมแร่ธาตุที่พบน้อยแต่จำเป็น (Essential Trace Elements Products) 43 วินาทีที่แล้ว
วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 49 วินาทีที่แล้ว
อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 54 วินาทีที่แล้ว
เมล็ดชะโก...เครื่องเทศสำคัญในพริกแกงข้าวซอย 54 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา