Loading…

ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : รศ.ดร.ภก.ศุภโชค มั่งมูล และ ผศ.ดร.ภญ.วิลาสินี ซาโตะ )
120,699 ครั้ง เมื่อ 7 นาทีที่แล้ว
2016-04-24

ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความอับอาย แยกตัวจากสังคม ไม่อยากออกจากบ้าน เพราะ ผู้ป่วยจะเกิดความรู้สึกปวดอยากปัสสาวะอย่างรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่สามารถกลั้นไว้ได้ จึงอาจจะมีปัสสาวะเล็ด/ราด ปัสสาวะบ่อย (ในช่วงกลางวันมากกว่า 7 ครั้งต่อวัน) และต้องตื่นมาปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนหลังจากหลับ (มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ครั้ง) แต่ไม่มีการติดเชื้อหรือพยาธิสภาพอื่น ภาวะดังกล่าวนี้ในทางการแพทย์ เรียกว่า ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยและเร็วกว่าปกติ โดยสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาทซึ่งควบคุมการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวบ่อยและบีบตัวไวกว่า ปกติ โดยที่ยังมีปริมาณปัสสาวะไม่มากพอที่จะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสเกิดได้มากขึ้น และพบบ่อยกว่าในสตรีเพศ นอกจากนี้ ภาวะต่อมลูกหมากโต หรือ การมีเลือดไปเลี้ยงที่กระเพาะปัสสาวะไม่เพียงพอจนเกิดภาวะขาดเลือดและนำไปสู่ความผิดปกติของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหรือการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะบกพร่อง การอักเสบของกระเพาะปัสสาวะบ่อยๆก็เป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดปกติได้ และมีข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยทางจิตเวช เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวิตกกังวล สมาธิสั้น สมองเสื่อม มีอัตราการเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน สูงกว่าคนปกติซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นผลจากความบกพร่องในการทำงานของสารสื่อประสาท
เมื่อเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน แพทย์จะทำการซักประวัติและวินิจฉัยเพื่อให้แน่ใจว่า ภาวะดังกล่าวมิได้มีสาเหตุจากโรคหรือความผิดปกติอื่น และแพทย์จะให้ผู้ป่วยจดบันทึกการปัสสาวะ เช่นถ่ายปัสสาวะเวลาใด เกิดปัสสาวะเล็ดหรือไม่ ดื่มน้ำ/ของเหลวเวลาใดและปริมาตรเท่าไร เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ
แนวทางในการรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
เริ่มจาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการค่อยๆลดปริมาณนํ้า/ของเหลวที่ดื่ม และ รับประทานผักผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบแทน และงดการรับประทานสารที่กระตุ้นให้ปัสสาวะ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ด้วย
การฝึกกลั้นปัสสาวะ การฝึกกลั้นปัสสาวะ เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ให้ฝึกเพิ่มช่วงเวลาของการไปถ่ายปัสสาวะ โดยค่อยๆยืดระยะเวลาระหว่างการไปถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้ง ร่วมกับการให้ยาที่ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ คือ ยากลุ่ม Antimuscarinic เช่น darifenacin, hyoscyamine, oxybutynin, tolterodine, solifenacin, trospium, fesoterodine ซึ่งควรให้ยาเม็ดชนิดค่อยๆปลดปล่อยตัวยา เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในปัจจุบันนี้ยา oxybutynin ยังมีรูปแบบพลาสเตอร์ปิดบนผิวหนังหรือรูปแบบเจลทาผิว เพื่อให้ยาค่อยๆถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ยากลุ่มนี้บรรเทาอาการด้วยการไปต้านผลของระบบประสาทอัตโนมัติชนิดพาราซิมพาเตติก เพราะเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนั้น เป็นผลจากการที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะตอบสนองต่อสารสื่อจากระบบประสาทพาราซิมพาเตติกมากเกินไป ผลของการใช้ ยากลุ่ม Antimuscarinic คือ ยาจะไปลดการบีบตัวที่ไวเกินปกติของกระเพาะปัสสาวะ แต่จะก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก นอกจากนี้ยังมี ยากลุ่ม ß3-adrenoceptor agonist เช่น Mirabegron ซึ่งลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ลดความดันภายในกระเพาะปัสสาวะ แต่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง คือ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปวดศีรษะ ท้องผูก
อย่างไรก็ดี ยาบรรเทาอาการของภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินมีประสิทธิผลปานกลาง ช่วยลดจำนวนครั้งของการปวดปัสสาวะลงบ้าง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งอาการทั้งหมด
การบริหารกล้ามเนื้อหูรูดให้แข็งแรง เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายๆ และให้ผลดีในการบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ดได้ เพียงขมิบกล้ามเนื้อหูรูดอย่างแรงเหมือนกำลังกลั้นปัสสาวะ และขมิบทำเช่นนั้นนานประมาณ 5 วินาที หยุดขมิบ 10 วินาที แล้วทำซ้ำ ให้ทำเช่นนี้ 10 ครั้ง ในตอนเช้า กลางวัน และเย็น ทุกวัน ค่อยๆเพิ่มจำนวนครั้งของการขมิบเป็น 15 ทีวันละ3 ครั้ง 20 ทีวันละ3 ครั้ง 20 ทีวันละ4 ครั้ง และทำเพิ่มอีก 20 ที บริหารกล้ามเนื้อหูรูดอย่างสม่ำเสมอ ต่อมาเมื่อเข้าห้องน้ำถ่ายปัสสาวะลองถ่ายเพียงครึ่งหนึ่งแล้วหยุดด้วยการขมิบอย่างแรงลองดูว่าสามารถกลั้นปัสสาวะได้หรือยังที่สำคัญคือ ต้องบริหารกล้ามเนื้อหูรูดอย่างสม่ำเสมอ และสามารถบริหารได้ทุกที่ เช่น ขณะนั่งทำงาน ขณะนั่งรถ ฟังเพลง ดูรายงานข่าว และใช้ผลการบริหารนี้เมื่อจำเป็นต้องกลั้นมิให้ปัสสาวะเล็ด/ราด เช่น ไอ จาม หัวเราะ
ที่สำคัญคือ ต้องบริหารกล้ามเนื้อหูรูดอย่างสม่ำเสมอ และสามารถบริหารได้ทุกที่ เช่น ขณะนั่งทำงาน ขณะนั่งรถ ฟังเพลง ดูรายงานข่าว และใช้ผลการบริหารนี้เมื่อจำเป็นต้องกลั้นมิให้ปัสสาวะเล็ด/ราด เช่น ไอ จาม หัวเราะ
ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยยาที่กล่าวข้างต้น หรือการรักษาด้วยยาไม่บรรลุเป้าหมายในการรักษา แพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้วิธีการรักษาแบบอื่น เช่น การฉีดสาร Botulinum toxin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการปล่อยสารสื่อจากระบบประสาทพาราซิมพาเตติก ทำการการกระตุ้นเส้นประสาท Sacral หรือ tibial ด้วย ไฟฟ้า และทำการผ่าตัด เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Banakhar MA, Al-Shaiji TF and Hassouna MM. Pathophysiology of overactive bladder. Int Urogynecol J. 2012;23:975–982.
  2. Gormley EA, Lightner DJ, Faraday M, et al. Diagnosis and treatment of overactive bladder (non-neurogenic) in adults: AUA/SUFU guideline. J Urol. 2015;193(5):1572-80.
  3. Pelvic Floor Exercises (Kegel') - Women's Bladder Health http://www.womensbladderhealth.com/pdf/pelvicfloorexercises.pdf Access 31/03/2016

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตอนที่ 3: สนุกกับการผลิตเจลสมุนไพร 1 วินาทีที่แล้ว
ยารักษาสิว isotretinoin อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม 4 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 4 วินาทีที่แล้ว
อันตรายจากการบริโภควิตามินมากเกิน 7 วินาทีที่แล้ว
หยุดคิดสักนิด…ก่อนคิดฝ่าไฟแดง 15 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 22 วินาทีที่แล้ว
ความรู้เรื่องคลื่นรังสี ตอนที่ 1 23 วินาทีที่แล้ว
Midazolam (Dormicum) ภัยสังคมที่หญิงและชายควรรู้ 31 วินาทีที่แล้ว
กลูตาไธโอน ตอนที่ 2 : ยาฉีด ยากิน และยาทา 31 วินาทีที่แล้ว
โรคจีซิกพีดี...ยาและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง 35 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล