Loading…

ยารักษาโรคเบาหวาน ใช้อย่างไร

ยารักษาโรคเบาหวาน ใช้อย่างไร
รองศาสตราจารย์ ดร. ภ.ญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
146,124 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2010-11-08

โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินสุลินได้ในปริมาณที่สูงพอที่จะจัดการเก็บน้ำตาลจากเลือดเข้าเซลล์เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับสู่ค่าปกติ ผู้ป่วยจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยา เพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็จะมีชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเหมือนคนทั่วไป ในเรื่องการใช้ยา มียาอยู่ 2 ประเภทได้แก่ ยารับประทาน และยาฉีดอินสุลิน

ยารับประทานรักษาโรคเบาหวานยังแบ่งออกได้อีก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาที่กระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้สร้างอินสุลิน กลุ่มยาที่ส่งเสริมการทำงานของอินสุลิน โดยลดการสร้างน้ำตาลจากตับและทำให้น้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้นและกลุ่มยาที่ขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ยาทั้ง3กลุ่มมีวิธีรับประทานต่างกันไป บางชนิดต้องรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง บางชนิดต้องรับประทานพร้อมอาหารและ บางชนิดต้องรับประทานหลังอาหาร อย่างไรก็ตาม ข้อที่สำคัญคือ การรับประทานยาจะต้องตรงเวลา และไม่ขาดยา

กลุ่มยารักษาโรคเบาหวาน

วิธีใช้

กลุ่มยาที่กระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้สร้างอินสุลิน

  • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เช่น กลิปีไซด์ กลิคาไซด์ ไกลเบนคลาไมด์เป็นต้น

รับประทานก่อนอาหาร30 นาทีวันละ 1-2 ครั้ง

  • ยากลุ่มรีพาไกลไนด์

รับประทานก่อนอาหาร 30 นาทีวันละ 2-4 ครั้ง

กลุ่มยาที่ส่งเสริมการทำงานของอินสุลิน

  • เม็ทฟอร์มิน

รับประทานหลังอาหาร 15-30นาที วันละ 2-3 ครั้ง

  • ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน เช่น โรสิกลิตาโซน ไพโอกลิตาโซน

รับประทานหลังอาหาร15-30นาที วันละ 1-2 ครั้ง

กลุ่มยาที่ขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด

  • เอคาร์โบสและ โวกลิโบส ยากลุ่มนี้จะลดระดับน้ำตาลได้เล็กน้อย จึงใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่น

รับประทานพร้อมกับอาหารคำแรก วันละ 3 ครั้ง


นอกจากยารับประทานลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยาฉีดอินสุลินก็เป็นยาที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด ใช้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นขา หรือหน้าท้อง วันละ 1-4 ครั้งก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ควรหมุนเวียนเปลี่ยนที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังแทนการฉีดซ้ำที่เดิมแต่ยังคงอยู่ในบริเวณผิวหนังเดียวกัน เช่นฉีดบริเวณต้นขา ก็เปลี่ยนตำแหน่งแทงเข็มโดยให้ยังคงอยู่ที่บริเวณต้นขา

อินสุลินมีทั้งชนิดที่เป็นน้ำใสและน้ำขุ่น หากต้องใช้ทั้ง 2 ชนิด ผู้ป่วยต้องใช้กระบอกฉีดยาดูดอินสุลินชนิดน้ำใสก่อน แล้วจึงดูดยาอินสุลินชนิดน้ำขุ่น เข้ามาผสมในกระบอกฉีดยาเดียวกัน จากนั้นจึงนำไปฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ข้อสำคัญคือ อินสุลินที่ยังไม่เปิดใช้ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง เมื่อจะใช้จึงนำออกมาจากตู้เย็น และนำไปคลึงระหว่างฝ่ามือทั้งสองข้างเพื่อให้อินสุลินมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิกาย ก่อนนำไปฉีด ดังนั้นถ้าไปโรงพยาบาลและรับยาฉีดอินสุลิน จึงต้องแช่ในกระติกน้ำแข็งระหว่างเดินทางจากโรงพยาบาลกลับมาบ้าน เพราะยาฉีดอินสุลินหากโดนความร้อนจัดจะเสื่อมสภาพและใช้ไม่ได้อีกต่อไป สำหรับอินสุลินที่เปิดใช้แล้วสามารถวางไว้นอกตู้เย็นได้หากอุณหภูมิไม่สูงมาก แต่ต้องใช้ขวดนั้นให้หมดภายใน 30 วัน

ด้วยเหตุที่ผู้ป่วยต้องฉีดอินสุลินทุกวัน จึงมีการพัฒนารูปแบบยาฉีดอินสุลินให้อยู่ในกระบอกฉีดยาสำเร็จรูปที่มีหน้าตาคล้ายปากกา หลอดยาบรรจุอินสุลินมีปริมาตร 3 ซีซี จะติดอยู่ในปากกา ผู้ป่วยเพียงเปลี่ยนเข็มฉีดยาใหม่ทุกครั้งก่อนฉีด และไม่จำเป็นต้องเก็บปากกาอินสุลินไว้ในตู้เย็นเนื่องจากปริมาณอินสุลินในปากกาไม่มาก สามารถใช้ได้หมดภายในเวลาประมาณ 7-10 วันหรือไม่เกิน 1 เดือน นอกจากนี้ยังสะดวกในการพกพาติดตัวอีกด้วย อย่างไรก็ตามต้องไม่ทิ้งปากกาอินสุลินไว้ในรถที่จอดกลางแดด เพราะจะทำให้อินสุลินเสื่อมสภาพได้

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) พระเอกหรือผู้ร้าย? 2 วินาทีที่แล้ว
พฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น 2 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 2 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 3 วินาทีที่แล้ว
ยารักษาโรคกระดูกพรุน ใช้อย่างไร? 3 วินาทีที่แล้ว
การผสมยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งสำหรับรับประทาน 3 วินาทีที่แล้ว
ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง...ใช้อย่างไร 3 วินาทีที่แล้ว
เตรียมตัวให้พร้อม ….. ก่อนเข้าห้องผ่าตัด (ตอนที่ 1) 5 วินาทีที่แล้ว
ยาเม็ดคุมกำเนิด : ข้อควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นที่รบกวนประสิทธิภาพและความปลอดภัย 10 วินาทีที่แล้ว
อันตรกิริยาระหว่างส้มโอกับยา (ตอนที่ 1) 10 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล