Loading…

อันตรายของครีมหน้าขาว ที่ผสมไฮโดรควิโนน

อันตรายของครีมหน้าขาว ที่ผสมไฮโดรควิโนน
อ. ดร. เอกรัตน์ จันทราทิตย์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
281,936 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2010-04-12

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวนั้นได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย บริษัทเครื่องสำอางจึงได้ทำการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครีมที่ทำให้ผิวหน้าขาวใส ในปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้วางจำหน่ายอยู่มากมายในท้องตลาด ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีส่วนประกอบของสารสำคัญที่ทำให้ผิวขาวแตกต่างกันไป

ไฮโดรควิโนน เป็นสารเคมีซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมาเตรียมครีมที่ทำให้หน้าขาวในอดีต เนื่องจากเห็นผลได้เร็วไฮโดรควิโนนออกฤทธิ์โดยการการยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง หรือที่เรียกว่า เมลานิน จึงมีผลทำให้ผิวขาวขึ้นได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนนั้นควรใช้กับผู้ที่มีปัญหาฝ้า หรือรอยด่างดำจากสิวที่รุนแรงและจะต้องมีเปอร์เซ็นต์ของตัวยาที่แน่นอนระบุอยู่ นอกจากนี้ควรใช้ในระยะเวลาที่จำกัด ไม่ควรใช้นานเกินไป และไม่ควรหยุดใช้ยาทันทีเนื่องจากอาจจะทำให้ผิวคล้ำลงกว่าเดิมได้จากการที่ผิวหนังเร่งผลิตเซลล์เม็ดสีมาทดแทน นอกจากนี้ไฮโดรควิโนนเป็นสารที่ทำปฏิกิริยากับแสงแดด ซึ่งหากทายาที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนแล้วไม่ทาครีมกันแดด ฝ้าจะดำกว่าเดิมได้

ในปัจจุบันนี้ไฮโดรควิโนนได้ถูกสั่งห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไป อย่างไรก็ตามในคลินิกที่จ่ายยารักษาฝ้าโดยแพทย์ ยังสามารถจ่ายให้ผู้ป่วยได้ตามความเหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์ การใช้ครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เช่น การหาซื้อครีมทาฝ้ามาใช้เอง อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะผสมไฮโดรควิโนนในปริมาณสูงมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 3-5%[สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ผสมสารไฮโดรควิโนนในการรักษาฝ้าได้ไม่เกิน 2%]ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ได้ เริ่มจาก อาการระคายเคืองต่อผิว เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หาย ทำให้เกิดโรคผิวหนังขึ้น เกิดตุ่มนูนสีดำบริเวณโหนกแก้มและสันจมูก ซึ่งเป็นบริเวณที่ทายาบ่อยๆหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 6 เดือน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อภายในผิวหนังทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรสีน้ำเงินอมดำได้ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผิวหนังมีการปรับตัวให้สร้างเม็ดสีมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ในส่วนของผู้บริโภคเองก็ควรต้องมีความใส่ใจในการเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วย อย. ได้ระบุรายชื่อเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายไว้ในเว็ปไซท์ http://www.fda.moph.go.th/ซึ่งผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง

อย. ได้ให้ข้อสังเกตว่าเครื่องสำอางที่พบสารอันตรายมักให้รายละเอียดบนฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุแหล่งผลิตครั้งที่ผลิต และวันเดือนปีที่ผลิต ในการเลือกซื้อผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังและควรสังเกตฉลากเป็นลำดับแรก ฉลากที่ถูกต้องจะต้องเป็นภาษาไทยมีข้อความบังคับครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ วิธีใช้ชื่อที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และปริมาณสุทธิการซื้อควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อเพราะคำโฆษณาเพียงอย่างเดียว

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (http://www.fda.moph.go.th/)
  2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (http://www.thaihealth.or.th/node/10582)
  3. Drug Information Online (http://www.drugs.com/mtm/hydroquinone-topical.html)

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

เตือนปรับลดขนาด ยาพาราเซตามอล (paracetamol) สูงสุดต่อวัน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับ 1 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 1 วินาทีที่แล้ว
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง 1 วินาทีที่แล้ว
รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ 1 วินาทีที่แล้ว
วิตามินซีกับโรคเกาต์ 1 วินาทีที่แล้ว
คะน้าเม็กซิโก…ต้นไม้แสนอร่อย 1 วินาทีที่แล้ว
บรรจุภัณฑ์บ่งชี้ร่องรอยการแกะ (Tamper-Evident Packaging): ตอนที่ 4 2 วินาทีที่แล้ว
โรคเกาต์กับเกาต์เทียม ต่างกันอย่างไร 2 วินาทีที่แล้ว
การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 4 วินาทีที่แล้ว
สัตว์เลี้ยงกับยา 6 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล