Eng |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคไข้นกแก้วหรือโรคซิตตาโคซีส (Psittacosis) มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า คลามัยเดีย ซิตตาซี (Chlamydia psittaci) (ชื่อใหม่ของเชื้อนี้คือ คลามัยโดฟิล่า ซิตตาซี (Chlamydophila psittaci)) เนื่องจากเชื้อชนิดนี้พบครั้งแรกในนกแก้วจึงเรียกโรคที่เกิดขึ้นว่า “โรคไข้นกแก้ว” โดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียชนิดนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อในนกชนิดต่าง ๆ เช่น นกแก้ว นกพาราคีท นกพิราบ นกกระจอกและ นกคีรีบูน นอกจากนี้ยังสามารถพบเชื้อนี้ได้ในสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ เช่น เป็ดและไก่งวง รวมถึงพบในสัตว์ ที่ใกล้ชิดกับนกหรือสัตว์ปีก เช่น สุนัข แมว ม้าและหมู ในปัจจุบัน พบรายงานการระบาดของโรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) ในประเทศแถบยุโรป เช่น ออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ รวมถึงมีรายงานผู้เสียชีวิตในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยเคยมีรายงานการระบาดของโรคไข้นกแก้วครั้งแรกในปี 2539 และจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (9 มีนาคม 2567) พบว่าปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้นกแก้วในประเทศไทย ในบทความฉบับนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคดังกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังและดูแลตนเองต่อไป
การติดต่อและกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้นกแก้ว
การติดเชื้อไข้นกแก้วพบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือมีพฤติกรรมใกล้ชิดกับนกและสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เลี้ยงนกเป็นสัตว์เลี้ยง รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับนกและสัตว์ปีก เช่น ผู้ที่เลี้ยงนกหรือให้อาหารนก พนักงานในร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงนก ผู้ที่ทำงานในร้านค้าจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ผู้ที่ทำงานในฟาร์มสัตว์ปีก สัตว์แพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์ คนได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสมูลนกหรือสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของนกที่ติดเชื้อ รวมถึงการสูดดมเอาละอองของมูลนกแห้งหรือขนนกที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป นอกจากนี้คนอาจมีโอกาสได้รับเชื้อจากการสัมผัสกับปากของนกหรือถูกนกกัดโดยตรง อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อจากคนสู่คนรวมถึงการติดต่อผ่านการรับประทานเนื้อของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อซึ่งโอกาสดังกล่าวพบได้น้อยมาก
อาการของโรคไข้นกแก้ว
เชื้อก่อโรคไข้นกแก้วมีระยะฟักตัว 5-14 วัน ซึ่งอาการของผู้ป่วยโดยทั่วไปจะคล้ายกับโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดอื่น ๆ โดยอาการมักไม่รุนแรงหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและไอแห้ง
นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจพบอาการรุนแรงหรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อบุหัวใจและลิ้นหัวใจอักเสบ ตับอักเสบและการติดเชื้อในระบบประสาทรวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้มีน้อยมาก (น้อยกว่าร้อยละ 1)
การวินิจฉัยโรคไข้นกแก้ว
เนื่องจากอาการของผู้ป่วยโรคนี้คล้ายกับอาการของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดอื่น ๆ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคจึงอาศัยอาการแสดงทางคลินิกร่วมกับประวัติเสี่ยงหรือประวัติการสัมผัสใกล้ชิดกับนก ที่เลี้ยงหรือสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการติดเชื้อ เช่น การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อจากเลือด การเพาะเชื้อ การตรวจหาสารพันธุกรรมหรือชิ้นส่วนโปรตีน (แอนติเจน) ของเชื้อจากตัวอย่างที่เก็บจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเช่น เสมหะ รวมถึงตัวอย่างตรวจที่เก็บจากคอหอยส่วนจมูก (nasopharynx) หรือคอหอยหลังช่องปาก (oropharynx)
การรักษาโรคไข้นกแก้ว
โรคนี้รักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม macrolides หรือ tetracyclines รวมถึงการรักษาตามอาการที่พบในผู้ป่วย นอกจากนี้การได้รับยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่หายจากโรคนี้มีโอกาสติดเชื้อหรือเป็นโรคนี้ซ้ำอีกครั้งได้
การป้องกันโรคไข้นกแก้ว
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้นกแก้ว แต่มีวิธีการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสนกรวมถึงสัตว์ปีกที่ป่วย หากต้องปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดกับนกและสัตว์ปีก ควรสวมเสื้อผ้าและเครื่องป้องกันให้มิดชิดรวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยและสวมถุงมือให้เหมาะสม ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งภายหลังการปฏิบัติงานหรือสัมผัสใกล้ชิดกับนกหรือสัตว์ปีก รวมถึงหมั่นคอยสังเกตอาการของตนเองและสัตว์อยู่เสมอ นอกจากนี้ถ้ามีอาการสงสัยว่าจะติดเชื้อดังกล่าว เช่น มีไข้และอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมกับมีประวัติในการสัมผัสนกหรือสัตว์ปีก ควรรีบพบแพทย์ทันที
1. กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค. กรมควบคุมโรคเฝ้าติดตาม
สถานการณ์ “โรคไข้นกแก้ว” ในยุโรป ย้ำ! ประชาชนอย่าตื่นตระหนก รับฟังข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ [อินเทอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 11 มี.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก:
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=41440&deptcode=brc&news_views=5560
2.รวงผึ้ง สุทเธนทร์, พบชัย งามสกุลรุ่งโรจน์, ไอยฤทธิ์ ไทยพิสุทธิกุล, วรรณี กัณฐกมาลากุล, บรรณาธิการ. Medical microbiology volume 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: พริ้นเอเบิ้ล; 2564.
3. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Psittacosis [Internet]. 2022 [Cited 2024 Mar 13]. Available from: https://www.cdc.gov/pneumonia/atypical/psittacosis/index.html
4. Riantawan P, Nunthapisud P. Psittacosis pneumonia: a case report and review of the literature. J Med
Assoc Thai. 1996;79(1):55-9.
5. World Health Organization (WHO). Disease outbreak news “Psittacosis – European region” [Internet]. 2024 [Cited 2024 Mar 13]. Available from: https://www.who.int/emergencies/disease-outbreak-news/item/2024-DON509#:~:text=In%20February%202024%2C%20Austria%2C%20Denmark,in%20most%20of%20the%20cases.